การหยุดพักจากการออกกำลังกาย ถือเป็นสิ่งสำคัญจำเป็นต่อโปรแกรมการฝึกอย่างมาก เพราะกล้ามเนื้อตลอดจนข้อต่อและเส้นเอ็นต่างๆ ของร่างกายได้รับการออกแรงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากไม่มีช่วงเวลาได้พักเลยก็จะทำให้มีโอกาสบาดเจ็บและเหนื่อยล้ามากขึ้น ทั้งนี้ แนวทางในการพักฟื้นระหว่างโปรแกรมฝึกซ้อมที่จะช่วยให้ประโยชน์สูงสุดกับร่างกายและการกลับมาฝึกต่อนั้น มีดังต่อไปนี้
1. แม้ไม่ได้ฝึก อย่างน้อยก็ควรเดิน
ในวันพักผ่อนที่ไม่ได้ฝึกซ้อม เราควรรักษาอัตราการเต้นของหัวใจให้สูงขึ้นเอาไว้บ้างในระหว่างวัน โดยหาเวลาเดินเล่นสบายๆ หรือวิ่งเหยาะๆ ก็ได้ เพราะจะมีส่วนช่วยให้ร่างกายปรับสมดุลให้อยู่ในสภาพที่ดี และการวิ่งหรือการทำคาร์ดิโอแบบเบาๆ นั้น จะช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายได้ดีมากขึ้นแทนที่จะหยุดไปเลยเฉยๆ เพราะอย่างไรก็ตามการหยุดนิ่งอยู่กับที่ ก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีสำหรับกล้ามเนื้อทุกส่วน
2. อย่าละเลยการนวดผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
ช่วงเวลาหยุดพักนี้ถือเป็นส่วนเวลาที่จะได้นวดผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้อย่างเต็มที่ที่สุด โดยสามารถทำได้ง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก ด้วยการใช้อุปกรณ์ในการนวด อาทิ Foam Roller ตลอดจนบรรดาลูกกลิ้งนวดรูปแบบต่างๆ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้สามารถทำให้เรากำหนดเป้าหมายในการนวดกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ได้อย่างแม่นยำและทั่วถึง ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีส่วนอย่างมากในการช่วยบรรเทาอาการตึง เกร็ง และปวดกล้ามเนื้อได้เป็นอย่างดี อันจะช่วยให้ร่างกายเราพร้อมอย่างเต็มที่สำหรับการกลับไปสู่โปรแกรมฝึกซ้อมครั้งต่อไป
3. จัดการความเครียดให้ดี
ในช่วงของการหยุดพัก สิ่งที่เราควรพักไม่ใช่แค่เพียงร่างกาย แต่ต้องทำให้จิตใจได้พักผ่อนอย่างเต็มที่จริงๆ ด้วย เพราะหากเราปล่อยให้ตัวเองเครียด คือเป็นการพักแค่ร่างกายไม่ได้ฝึกซ้อมเต็มที่ แต่สมอง ความคิด และจิตใจ ยังต้องเผชิญหน้ากับการแก้ปัญหา การทำงาน ความเครียดต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะส่งผลทำให้ “ร่างกายไม่ได้พักฟื้น” และทำให้ความอ่อนล้าไม่ได้หายไป กลายเป็นเหมือนเราฝึกแบบไม่ได้หยุดพัก ซึ่งแน่นอนว่าย่อมไม่ส่งผลดีต่อร่างกาย
4. ให้ความสำคัญกับการกินและนอน
โภชนาการและการนอนหลับ เป็นกิจกรรมที่สำคัญอย่างมากซึ่งส่งผลต่อการฝึกซ้อมในครั้งต่อไป โดยหากในช่วงหยุดซ้อมเราไม่ควบคุมโภชนาการให้ดี ผลลัพธ์ของการฝึกก็จะไม่แสดงออกมาอย่างที่ควรจะเป็น ในขณะเดียวกันหากเราพักผ่อนไม่เพียงพอ ร่างกายก็ไม่ได้รับการฟื้นฟูอย่างถูกต้องเหมาะสม จนเก็บกลายเป็นความเหนื่อยสะสมที่ทำให้ประสิทธิภาพของการฝึกซ้อมทั้งก่อนหน้าและในอนาคตนั้นลดลงได้ด้วย ทั้งนี้ ในการให้ความสำคัญกับการกินอาหารนั้น ถือเป็นการเติมเชื้อเพลิงให้กับร่างกาย ให้ร่างกายสร้างกล้ามเนื้อ ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอไปได้อย่างเต็มที่ และการนอนหลับเองก็เช่นกันที่มีส่วนในการช่วยเติมเต็มร่างกายจากความเหนื่อยล้าให้กลับมาสมบูรณ์มากขึ้น ดังนั้น ในวันที่หยุดซ้อม จึงต้องใส่ใจเรื่องการกินและการนอนให้ดีที่สุด ไม่เช่นนั้นแล้ว ก็จะส่งผลเสียต่อภาพรวมของการฝึกซ้อมโดยตรง
แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ได้ชื่อว่า “หยุดพัก” แต่สำหรับการออกำลังกายเพื่อบรรลุเป้าหมาย การพัฒนาศักยภาพร่างกายเพื่อการก้าวข้ามขีดจำกัดแล้ว ผู้ฝึกก็ไม่อาจ “หยุดดูแลตัวเองได้” กล่าวคือ ในช่วงเวลา “หยุดซ้อม” ระหว่างโปรแกรมฝึก เราก็จำเป็นต้องฝึกร่างกาย ฝึกวินัย ของการหยุดพักอย่างเหมาะสมด้วย เพื่อให้สามารถสร้างผลลัพธ์ของการฝึกได้อย่างที่ตั้งใจ หรืออีกนัยหนึ่งก็อาจเรียกได้ว่า ในการ “หยุดพัก” นั้น ก็ถือเป็นการ “ฝึกซ้อม” อย่างหนึ่งนั่นเอง