จริงอยู่ที่การออกกำลังกาย และการฝึกซ้อมเป็นเรื่องดี แต่บางทีการหักโหมฝึกซ้อมที่หนักเกินไป ก็อาจส่งผลเสียตีกลับคืนสู่ร่างกายได้อย่างง่ายดายเช่นกัน ยิ่งหากช่วงไหนที่รู้สึกว่า “อ่อนซ้อมไปหน่อย” แล้วอยากมาฝึกหนักๆ เพื่อชดเชยล่ะก็ การทำแบบนั้นก็อาจกลายเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมได้ เพราะจะทำให้ร่างกายเกิดความเครียดและส่งผลเสียมากกว่าผลดี ซึ่ง 5 ข้อต่อจากนี้ไป คือสัญญาณเตือนภัย ที่บ่งบอกได้ว่า เรา Overtraining มากเกินไปแล้ว และควรจะต้องหันมาผ่อนคลายตัวเองลงบ้าง ก่อนจะสายเกินไป
1. ความอยากอาหารลดลง
เคยได้ยินกันแต่ว่าเครียดแล้วจะหิว แต่ในความเป็นจริงแล้ว “ความเครียด” ก็ทำให้เรากินอะไรไม่ลงเช่นกัน เหมือนกับเวลาที่เราเศร้า กังวล นั่นแหละครับ ซึ่งก็เช่นกันเลยกับการที่หากเราฝึกซ้อมหนักจนเกินไป ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนความเครียดเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลต่อระบบประสาท ทำให้ย่อยอาหารช้าลง เราก็เลยไม่หิว ไม่อยากอาหาร ซึ่งลองคิดดูนะครับว่า ถ้าเรายังเอาแต่ฝึกหนัก แต่รับประทานอาหารไม่เพียงพอ ไม่ได้โภชนาการที่เหมาะสมต่อไป ไม่ช้าก็ไว ร่างกายก็ต้องรับไม่ไหว และเกิดผลเสียขึ้นอย่างแน่นอน ทั้งนี้ สำหรับแนวทางในการแก้ไข หากความอยากอาหารลดลงนั้น สามารถทำได้ด้วยการทานโปรตีน และเพิ่มผักผลไม้หลากสีในมื้ออาหาร เพราะสารต้านอนุมูลอิสระจะมีส่วนช่วยในการลดความเครียดได้
2. หงุดหงิด อารมณ์เสียง่ายและบ่อยขึ้น
การฝึกซ้อม ออกกำลังกายที่หนักเกินไป ส่งผลต่อระบบประสาทโดยตรง จึงทำให้การควบคุมอารมณ์ของเราอาจไม่เป็นปกติ และเมื่อหงุดหงิดง่ายขึ้น ในระหว่างการออกกำลังกาย ก็จะอาจเสี่ยงทำให้เกิดอาการบาดเจ็บขึ้นได้ง่ายมากขึ้น ดังนั้น หากรู้สึกว่าช่วงนี้ตัวเองอารมณ์เสียบ่อย ให้ตระหนักเสมอว่า เราอาจฝึกหนักจนเครียดเกินไปแล้ว ให้พยายามสงบใจ หายใจเข้าลึกๆ และเปลี่ยนรูปแบบการฝึก การออกกำลัง ไปทำกิจกรรมอะไรที่แตกต่าง ที่เพิ่มความสนุกเข้าไปบ้าง เพื่อผ่อนคลายความเครียดที่มีให้ลดน้อยลง
3. นอนไม่หลับ กระส่ายกระส่ายยามค่ำคืน
ความเครียดสะสมจากการฝึกหนักเกินไปจะส่งผลต่อฮอร์โมน อัตราการเต้นของหัวใจ และระบบการหายใจ ทำให้การนอนหลับของเรามีปัญหา และเมื่อเรานอนหลับไม่เพียงพอ ระบบเผาผลาญและระบบประสาทก็จะทำงานผิดปกติ เวียนกลับมาส่งผลต่ออารมณ์และการโฟกัสในการฝึกซ้อม จนอาจกลายเป็นต้นเหตุของการเกิดอุบัติระหว่างการฝึกซ้อมได้ ซึ่งเราจะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่า ทุกอย่างส่งผลกระทบแบบต่อเนื่องกัน ดังนั้น อย่าฝึกหนักจนเครียดเกินไป เพราะสุดท้ายปลายทางนั้น อาจได้ผลเสีย มากกว่าผลดี
4. รู้สึกเจ็บปวด เมื่อย เหนื่อยล้ามากขึ้น
แม้จะเป็นเรื่องปกติ ที่ความเจ็บปวดเมื่อยล้าย่อมมาพร้อมการฝึก แต่ทั้งนี้สำหรับการฝึกจน Overtraining จะนำมาซึ่งการเจ็บปวดที่มากกว่า ซึ่งหากเราไม่ใส่ใจในการฟื้นฟู บำบัดรักษา ก็อาจนำไปสู่อาการบาดเจ็บเรื้อรังได้ ทั้งนี้ การเลือกใช้อุปกรณ์ Foam Roller หรือ ลูกบอลสำหรับคลายกล้ามเนื้อ ถือเป็นแนวทางที่ดีที่จะทำให้อาการเจ็บปวดคลี่คลายลงได้ และทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่กระนั้น เราก็ต้องให้ความสำคัญกับการปรับโปรแกรมการฝึกซ้อมให้เหมาะสมด้วย
5. หมดแรง หมดไฟ ไม่อยากฝึก
แม้ร่างกายจะไม่ได้มีอาการบาดเจ็บ แต่การฝึกหนักจนเกินไป อาจทำให้เรา “หมดไฟ” และ “ไร้ความรู้สึกอยากฝึกต่อได้” ซึ่งสาเหตุเกิดจากระบบประสาทเกิดความเครียดมากเกินไปจนมีภาวะซึมเศร้า ร่างกายจะรู้สึกต่อต้าน ไม่กระปรี้กระเปร่า เหมือนกับที่เราไม่อยากลุกขึ้นจากเตียงเพื่อไปทำงานต่อเช้านั่นแหละ ดังนั้นแล้ว หากพบว่าตัวเองเกิดความรู้สึกหมดไฟ ไร้พลังงานขึ้นมา ทั้งๆ ที่เมื่อวานยังฝึกหนักได้อยู่ ก็ขอให้รู้เอาไว้เลยว่า เราอาจฝึกหนักเกินไปแล้ว และควรปรับโปรแกรมการฝึกซ้อมให้ผ่อนคลายมากขึ้น ก่อนที่จะจุดไฟไม่ติด กลับมาเป็นคนเดิมไม่ได้อีกเลย
แม้การฝึกฝนอย่างเข้มข้น การออกกำลังกายอย่างทุ่มเท จะเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาศักยภาพร่างกายของตัวเราให้ก้าวไปสู่จุดที่ดีกว่า เหนือกว่าขีดจำกัดเดิม อันจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ดังที่ปรารถนา แต่อย่างไรก็ตาม การฝึกซ้อมก็ยังต้องการ “ความสมดุล” ที่เป็นไปอย่างเหมาะสม ไม่ทำให้ร่างกายเกิดความเสียหาย ไม่ทำให้จิตใจได้รับผลกระทบ เพราะห่างเราฝึกหนักมากเกินไป จนไร้ซึ่งความสมดุลแล้วล่ะก็ จิตใจและร่างกายที่ต่อต้าน หรือไม่สามารถฝึกได้อย่างต่อเนื่อง เกิดการบาดเจ็บไป ก็ย่อมไม่สามารถพาให้เราก้าวไปสู่ผลลัพธ์อย่างที่ใจต้องการได้ ดังนั้น เราต้องไม่ลืมว่า เราฝึกซ้อม เราออกกำลังกายเพื่อความแข็งแรงสมบูรณ์ เพื่อสมรรถภาพร่างกายที่ดีขึ้น เราจึงไม่ควรทำให้การฝึกกลายเป็นสิ่งที่ย้อนกลับมาทำร้ายร่างกายและจิตใจของตัวเราเอง