ช่วงนี้แม้ฟิตเนสหลายๆ แห่งจะกลับมาเปิดให้บริการตามปกติแล้ว แต่หลายๆ คนก็อาจจะยังไม่สบายใจที่จะต้องไปออกกำลังกายในที่คนเยอะๆ อยู่ดี หรือบางคนก็ยังคงชินกับการออกกำลังกายที่บ้านอยู่ ดังนั้น วันนี้ เพื่อให้การออกกำลังกายที่บ้านมีประสิทธิภาพมากขึ้น และปลอดภัยต่อสภาพร่างกายมากที่สุด เรามีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงมาฝากกัน ดังนี้
1. แบ่งแยกพื้นที่ออกกำลังกายให้ชัดเจน
เนื่องจากพื้นที่ในการออกกำลังกายที่บ้านนั้นมีจำกัด อาจไม่ได้เป็นสัดส่วนเหมือนกับที่ยิม ดังนั้น การจัดสรรพื้นที่สำหรับออกกำลังกายโดยเฉพาะจึงสำคัญมาก เพราะถ้าเราไม่จัดพื้นที่ให้ดี ให้เป็นสัดส่วน มีของวางระเกะระกะ ก็อาจทำให้เราพลาด เผลอ เหยียบ ล้ม ลื่น และเกิดอุบัติเหตุได้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วบางทีเรามักจะชะล่าใจ คิดว่าไม่เป็นไรหรอก จนทำให้พลาดบาดเจ็บ ทำให้เสียวินัยในการออกกำลังกาย ทำให้การฝึกซ้อมขาดช่วงได้เนื่องจากต้องหยุดพักเพราะอาการบาดเจ็บ
2. พื้นและเพดาน คือจุดที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ
ถ้าการออกกำลังกายที่บ้านของเรามี “เหล็ก” หรือ “ดับเบล” มาเกี่ยวข้องด้วยแล้ว จำเป็นต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า “พื้น” ห้องของเราสามารถรองรับน้ำหนักดัมเบลได้มากแค่ไหน และ เพดานอยู่สูงเพียงพอสำหรับการออกท่าทาง กระโดด ยกแขน ยกเหล็กแบบสุดแขนหรือไม่ มีพัดลมเพดานไหม ฯลฯ เพื่อให้การเคลื่อนไหวของเราเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด และไม่เสียงทำให้เกิดอันตราย รวมถึงไม่เสี่ยงทำให้พื้นห้องเสียหายจากการเผลอลืมตัวปล่อยดับเบลลงพื้นด้วย
3. อย่าเสี่ยงยกเหล็กหนักเกินไป
การออกกำลังกายที่บ้านนั้น ถ้าไม่ได้มีเครื่องมือ หรืออุปกรณ์แบบจัดเต็ม โอกาสในการเกิดอุบัติเหตุนั้นมีสูงมาก ดังนั้น ในทางที่ปลอดภัยที่สุด ควรหลีกเลี่ยงการยกเหล็กที่มีน้ำหนักมากๆ โดยเลือกเหล็กที่มีน้ำหนักเบาถึงปานกลาง และเพิ่มจำนวนความเซ็ตให้มากขึ้นแทนดีกว่า หรือจะหันไปใช้การทำ Body Weight ตลอดจนใช้อุปกรณ์เพิ่มแรงต้านทาน อย่าง Pro Band หรือ Mini Band แทนก็ให้ประสิทธิภาพในการฝึกซ้อมได้ดีไม่แพ้กัน
4. อย่ามองข้ามการอุ่นเครื่องเด็ดขาด
หลายๆ คนพอเปลี่ยนสถานที่ออกกำลังกายมาเป็นที่บ้าน ก็มักลักไก่ รู้สึกว่าไม่ต้องอุ่นเครื่องก็ได้ ซึ่งถือเป็นความประมาทที่อาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้ง่ายมากๆ เพราะไม่ว่าเราจะออกกำลังกายที่ไหน การอุ่นเครื่องก่อนออกกำลังกาย 10-15 นาที ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญเสมอ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อได้เตรียมพร้อมสำหรับการฝึก ทำให้การฝึกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ
5. จัดโปรแกรมฝึกให้เหมาะสม และพร้อมยืดหยุ่นได้เสมอ
ในการออกกำลังกายฝึกซ้อมที่บ้าน เราไม่ควรหักโหมมากเกินไป เพราะสถานที่อาจไม่ได้เอื้ออำนวยให้ฝึกได้แบบเต็มรูปแบบ ซึ่งเพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ เราควรวางโปรแกรมฝึกให้ยืดหยุ่นเข้าไว้ โดยต้องคำนึงถึงความถูกต้อง และความปลอดภัยเป็นหลัก หากพบว่ามีอาการบาดเจ็บ ก็ควรปรับรูปแบบการฝึก หรือเปลี่ยนโปรแกรมการฝึกซ้อมให้เบาลง ทั้งนี้ แนวทางในการออกกำลังกายใหมีประสิทธิภาพที่สุด เราอาจติดตามได้จากวีดีโอแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ ที่ออกแบบโปรแกรมฝึกซ้อมสำหรับที่บ้านไว้ก็ได้ เพื่อเป็นพื้นฐานในการสร้างรูปแบบการออกกำลังกายที่บ้านให้เหมาะสมมากที่สุด
อย่างไรก็ตามการฝึกซ้อม และการออกำลังกายที่บ้าน เป็นเพียงรูปแบบของการฝึกชั่วคราวเท่านั้น เพื่อรักษาสถานภาพของการฝึกให้ยังคงต่อเนื่องได้ต่อไป และรอคอยเวลาการกลับไปสู่สภาวะปกติแบบเต็มรูปแบบอีกครั้ง ให้เราออกไปฝึก ไปออกกำลังกายที่ยิม หรือนอกบ้านได้อย่างอุ่นใจ ได้มีพื้นที่ที่จะช่วยให้เราทำกิจกรรมฝึกซ้อมแบบเต็มรูปแบบได้มากที่สุด แต่ถึงจะเป็นรูปแบบการฝึกซ้อมเพียงแค่ชั่วคราว แต่เราก็จำเป็นต้องใส่ใจและให้ความสำคัญกับทุกการเคลื่อนไหว ลำดับขั้นตอนในการปฏิบัติท่าทางให้ถูกต้องที่สุด เพื่อให้การออกกำลังกายเป็นผลดีต่อร่างกายเราให้ได้มากที่สุด