ในการฝึกซ้อมและออกกำลังกายนั้น หลายๆ คนมักจะสนใจโฟกัสแต่การบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้อง แขน อก ไหล่ และไม่ค่อยมีใจอยากโฟกัสกับกล้ามเนื้อขา กล้ามเนื้อสะโพกเท่าไร ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะผลลัพธ์ของการบริหารกล้ามเนื้อส่วนล่างนั้น อาจไม่ได้แสดงออกมาให้เห็นด้วยตาเหมือนกับกล้ามเนื้อส่วนบน หรือส่วนอื่นๆ แต่ทั้งนี้ สำหรับ “การแสดงศักยภาพร่างกายที่สมบูรณ์แบบแล้วนั้น” กล้ามเนื้อส่วนล่างอย่างกล้ามเนื้อสะโพกถือว่ามีความสำคัญมาก ยิ่งกับนักกีฬาด้วยแล้ว ยิ่งต้องใส่ใจเป็นพิเศษ
กล้ามเนื้อสะโพก หรือ Gluteal Muscle คือกลุ่มกล้ามเนื้อที่ใหญ่ที่สุดของร่างกาย มีความสำคัญต่อการงอและเหยียดยืดข้อสะโพก ซึ่งเกี่ยวพันกับการเดิน ยืน นั่ง วิ่ง และยังมีส่วนสำคัญในการช่วยพยุงหลังส่วนล่าง และร่างกายส่วนล่างทั้งหมดด้วย ดังนั้น หากกล้ามเนื้อสะโพกของเราไม่แข็งแรง การเคลื่อนไหวของเราก็จะไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มั่นคง การทรงตัวจะไม่ดี ทำให้ร่างกายขาดความคล่องแคล่ว รวดเร็ว ซึ่งก็จะทำให้ความสามารถในการเคลื่อนที่ที่จำเป็นต่อการเล่นกีฬา หรือการทำกิจกรรมต่างๆ นั้นลดลง
ทั้งนี้ กล้ามเนื้อสะโพกไม่ได้สำคัญต่อการเคลื่อนไหวที่ดีเท่านั้น แต่ยังทำให้เราเดินเหินได้อย่างมั่นคงด้วย เพราะเวลาเราวิ่ง เดิน ย่ำเท้าลงกับพื้นแต่ละก้าว กล้ามเนื้อสะโพกก็จะทำหน้าที่ในการรักษาสมดุลร่างกายเราด้วย นั่นจึงหมายความว่า ถ้ากล้ามเนื้อสะโพกเราอ่อนแอ เวลาเราวิ่ง ก็อาจจะเสียหลักได้ง่าย เกิดการสะดุด หกล้ม หรือเวลาเอี้ยวตัว ก็อาจเกิดการเคล็ด ขัดยอกได้อีก ดังนั้น การบริหารกล้ามเนื้อสะโพกให้แข็งแรง จึงมีส่วนช่วยในการทำให้เดินเหินวิ่ง ได้อย่างปลอดภัย เกิดอุบัติเหตุ เกิดการบาดเจ็บได้น้อยลงด้วย
สำหรับแนวทางในการบริหารกล้ามเนื้อสะโพกนั้น ก็ได้แก่ การเล่นท่า Squats, Sprints และ Lunges เป็นต้น ซึ่งเราก็สามารถเพิ่มความเข้มข้นของการบริหารกล้ามเนื้อสะโพกได้ โดยใช้ยางเพิ่มแรงต้านทาน อย่าง Mini Band ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ง่าย กะทัดรัด ทำให้เราใช้พื้นที่ในการบริหารเพียงแค่นิดเดียว และจะบริหารที่ไหนก็ได้ เพื่อยกระดับความเข้มข้นในการฝึกซ้อม ให้บริหารกล้ามเนื้อสะโพกได้ดียิ่งขึ้น
นอกจากการบริหารแล้ว การดูแลฟื้นฟูกล้ามเนื้อสะโพก ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย โดยสามารถใช้ Foam Roller กลิ้งบริเวณด้านหลังของสะโพกได้ เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และลดอาการเจ็บปวด โดยสามารถทำได้ทั้งก่อนและหลังจากการออกกำลังกาย จะช่วยทำให้กล้ามเนื้อสะโพกเรายืดหยุ่นได้ดีขึ้น และเสี่ยงต่อการบาดเจ็บน้อยลง
ในการออกกำลังกายที่ถูกต้อง เราไม่สามารถละเลย “กล้ามเนื้อ” ส่วนใดส่วนหนึ่งไปได้ จริงอยู่ที่บางชนิดกีฬา จำเป็นต้องใช้กล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งมากกว่า แต่โดยพื้นฐานความสมดุลที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวและการแสดงศักยภาพร่างกายที่สมบูรณ์แล้ว กล้ามเนื้อทุกส่วนล้วนสัมพันธ์กัน ดังนั้น เราจึงควรให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายกล้ามเนื้อทุกส่วนอย่างเหมาะสมเพียงพอ และค่อยไปเพิ่มเน้นกับกล้ามเนื้อบางส่วนที่สำคัญและจำเป็นต่อเป้าหมายของเรามากที่สุด ซึ่งสุดท้ายแล้วถ้าถามว่าเราควรให้ความสำคัญกับการบริหารกล้ามเนื้อสะโพกมากแค่ไหน คำตอบก็คือ ถ้าเราต้องการเคลื่อนไหวให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด รวดเร็ว คล่องแคล่ว มั่นคง และไม่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากการเคลื่อนที่แบบเปลี่ยนทิศทางฉับพลันล่ะก็ กล้ามเนื้อสะโพกคือกล้ามเนื้อชุดสำคัญที่เราจำเป็นต้องฝึกฝนอย่างเข้มข้น