กว่า 90 % ของผู้ป่วย โรคมะเร็งปอด ในปัจจุบันล้วนมีสาเหตุสำคัญมาจากการสูบบุหรี่ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขสถิติที่สูงมาก แต่ที่น่ากลัวกว่านั้นก็คือ หลายคนที่คิดว่าตัวเองไม่ได้สูบบุหรี่แล้วจะปลอดภัย นั่นอาจไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้องมากนัก เพราะร้อยละ 30 ของคนที่พบว่าเป็น มะเร็งปอด คือคนที่ไม่ได้เป็นคนสูบเอง แต่ได้รับควันบุหรี่จากคนอื่น
นั่นเองจึงทำให้เป็นที่มาของคำแนะนำที่ให้เราควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพราะเราไม่อาจทราบได้เลยว่า “มะเร็งปอด” กำลังก่อตัวอยู่ในร่างกายของเราหรือเปล่า เพราะแต่ละวันที่ผ่านไป เราต่างก็ปะปนและชิดใกล้กับควันบุหรี่อย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ค่อยได้
ซึ่งเพื่อเป็นการอธิบายถึงกระบวนการและโอกาสเกิดมะเร็งปอดให้ทุกคนเข้าใจมากขึ้น วันนี้เราจะพาไปคุยกับคุณหมอวินัย โบเวจา อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินหายใจ กันในเรื่องของการวินิจฉัยโรคมะเร็งปอดว่า มีกระบวนการและขั้นตอนอย่างไรบ้างในปัจจุบัน
ต้องเจอให้เร็ว รักษาให้ไว ถึงจะมีโอกาสรอดสูง
มะเร็งปอดถือว่าเป็นโรคร้ายแรงที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสรอดของคนไข้ หน้าที่ของหมอที่สำคัญที่สุดในด่านแรกเลยคือ ตรวจวินิจฉัยให้ละเอียดแม่นยำที่สุด ต้องดูว่าก้อนในปอดที่เอกซเรย์พบเป็นมะเร็งหรือไม่ หรือถ้าสงสัยปุ๊บเราก็ต้องรีบวินิจฉัยและรีบรักษา เพราะกฎเหล็กของมะเร็งคือ “เจอให้เร็ว รักษาให้ไว จะเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตได้สูง”
ซึ่งจริง ๆ แล้วลักษณะของภาพเอกซเรย์ หรือ CT แสกนนั้น มันอาจบอกได้เลยนะว่า ลักษณะภาพก้อนในปอดแบบไหนที่ “เหมือนมะเร็ง” ก้อนไหนไม่เหมือนมะเร็ง มันจะมีแบบขาว ดำ แล้วก็ Gray Zone คือถ้าเป็นสีดำหมอก็จะพอบอกจากภาพได้เลยว่าลักษณะแบบนี้นั้นเหมือนมะเร็ง คือมีโอกาสเป็นมะเร็งสูงกว่าแบบอื่น แต่ยังไงก็ต้องเอาไปวินิจฉัยดูให้แน่ชัดอีกทีด้วยการส่องกล้อง และตัดชิ้นเนื้อมาตรวจ
ภาพเอกซเรย์แบบไหนบ้าง ที่เป็นแนวทางบอกว่าเราเสี่ยงมะเร็งปอด?
จริง ๆ แล้วภาพจากการทำ CT Scan นั้น จะละเอียดกว่าภาพเอกซเรย์ธรรมดา แต่โดยรวมคือลักษณะของก้อนที่อาจเป็นมะเร็งได้นั้น ก็เช่น เป็นก้อนใหญ่ เป็นโพรง เป็นพวง หรือเป็นลักษณะแบบดาวกระจาย เป็นก้อนเล็ก ๆ กระจายเต็มไปหมดทั่วปอด แต่ว่าจะแน่นอนจะเป็นชัวร์ไหม จะฟันธงได้ว่าเป็นมะเร็งปอดหรือไม่ ก็ต้องตรวจส่องกล้อง ตัดชิ้นเนื้อเท่านั้น เพราะบางราย ก็อาจไม่ใช่ก็ได้ เป็นเพียงแค่ข้อสันนิษฐาน ซึ่งในกระบวนการตรวจก็จะมีการซักประวัติ ตรวจร่างกาย นำข้อมูลมาพิจารณาประกอบกันด้วย
ส่องกล้องตัดชิ้นเนื้อไม่น่ากลัว ถ้าอยากชัวร์ ตรวจเลยอย่าลังเล
อย่างที่บอกว่าถ้าจะให้ทราบแน่ ๆ ว่าเป็นมะเร็งปอดหรือไม่นั้น การส่องกล้องตัดชิ้นเนื้อคือคำตอบที่แน่นอนที่สุด แต่คนไข้บางรายก็ไม่กล้า จึงทำให้ฟันธงไม่ได้ชัดว่าเป็นหรือไม่เป็น และทำให้การรักษาอาจล่าช้า ถ้าในยุคเดิม เมื่อเราตรวจพบก้อนเนื้อในปอด จะต้องทำการผ่าตัดเปิดปอดแล้วตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจ แต่ยุคปัจจุบันนั้นไม่ต้องแล้ว เพราะเราใช้กล้องเล็ก ๆ ขนาดเท่าประมาณนิ้วก้อย ใส่เข้าไปทางหลอดลมเข้าปอด มุ่งตรงไปสู่ก้อนที่เอกซเรย์พบได้เลย ไม่มีแผลผ่าตัด ไม่เจ็บ ซึ่งพอเข้าไปปุ๊บ ก็จะมีคีมเป็นมีดเล็ก ๆ ตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจได้เลย ทำเช้า บ่ายก็เกลับบ้านได้แล้ว และรอผล 3 วันก็ทราบได้เลยว่าเราป่วยเป็นโรคอะไรกันแน่
อันนี้คือเทคนิคที่เป็นวิวัฒนาการใหม่ ที่ทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงน้อยลง ไม่น่ากลัว และได้ผลที่แน่นอน ซึ่งสำคัญมากสำหรับการรักษา เพราะอย่างที่บอกว่ากฎเหล็กของมะเร็งคือ ต้องเจอให้เร็ว รักษาให้ไว ถึงจะมีโอกาสรอดชีวิตสูง
สังเกตอาการให้ดี ถ้าพบสัญญาณไม่ดี ถึงไม่สูบบุหรี่ ก็ควรมาพบแพทย์
เนื่องจากไม่ว่าเราจะสูบบุหรี่หรือเป็นแค่คนที่อยู่ใกล้คนที่สูบบุหรี่ ก็มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดได้หมด ดังนั้น การดูแลตัวเองหมั่นสังเกตตัวเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยอาการทางปอดที่เป็นสัญญาณของความผิดปกติที่อาจส่งผลไปสู่การเป็นมะเร็งปอดนั้นได้ คือ ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด ไอรักษาไม่หาย อันนี้อาการไอนะ ส่วนอาการอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ไอ ก็เช่น หอบเหนื่อย แน่นเจ็บชายโครง เจ็บหน้าอก หายใจแล้วเจ็บ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด มีไข้ อาการแปลก ๆ แบบนี้ถ้าพบก็ควรต้องรีบมาหาแพทย์ทันที เพื่อตรวจดูว่าอะไหล่ส่วนไหนของร่างกายที่กำลังฟ้องอยู่ และพอหมอปอดตรวจร่างกายแล้วก็จะรู้แล้วว่าเป็นอะไร
ทั้งนี้เปรียบไปแล้วหมอปอดก็เป็นเหมือนช่างรถ เวลาที่เราป่วยที เราก็เอารถเข้ามาที่อู่ หมอคือช่างที่ต้องซักอาการ ถามไถ่ เพื่อดูว่ามันน่าจะเกิดจากสาเหตุอะไร แล้วจากนั้นก็เข้าไปตรวจว่าเกิดความผิดปกติที่อะไหล่ไหน วินิจฉัยจนยืนยันให้ได้ ซึ่งพอวินิจฉัยหาสาเหตุเจอแล้ว การรักษาก็จะตามมาและเป็นไปตามที่วินิจฉัยนั่นเอง