ในโลกยุคปัจจุบันที่ผู้คนต่างก็คร่ำเคร่งกับการทำงานกันอย่างหนักหน่วงนั้น แน่นอนว่าถึงจะสร้างรายได้ได้มาก แต่สุดท้ายก็มักพลาดต้องนำเงินที่หามาได้ไปใช้จ่ายกับค่ารักษาพยาบาลตัวเองซะเป็นส่วนใหญ่ เพราะเน้นแต่ทำงานหนักจนไม่ดูแลสุขภาพตัวเอง กินไม่เป็นเวลา ไม่พิถีพิถันกับอาหารที่รับประทาน รวมถึงบางทีก็ดื่มน้ำน้อยเกินไปจนทำให้ร่างกายเสียสมดุลและผิดปกติ
ซึ่งหนึ่งในโรคภัยที่แม้อาจไม่ได้อันตรายเท่าไร แต่ทุกคนสามารถเป็นได้เพียงแค่เพราะดื่มน้ำน้อยเกินไป ก็คือ “นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ” โดยเพื่อเป็นแนวทางในการดูแลตัวเอง ให้เหล่าคนขยันทำงานหนักไม่เพลี่ยงพล้ำต้องเสียสุขภาพกายสุขภาพเงินในกระเป๋าไปง่าย ๆ วันนี้เราจะไปทำความรู้จักกับ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ กันให้มากยิ่งขึ้น จะได้ SAVE ตัวเอง SAVE เงินเก็บเอาไว้ได้มากขึ้น
นิ่วในกระเพาะปัสสาวะคืออะไร? เพราะสาเหตุใดจึงเกิดขึ้นได้?
“นิ่ว” คือ ก้อนแข็งๆ ซึ่งเกิดจากการตกผลึกของเกลือแร่ หรือแร่ธาตุต่างๆ ในร่างกายของเรา ที่จับตัวเป็นก้อนแข็งขึ้น ซึ่งสามารถเกิดได้ในหลายๆ อวัยวะในร่างกาย โดยเกิดที่ไหนก็จะเรียกชื่อตามอวัยวะที่เกิด ดังนั้น นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ จึงหมายถึงผลึกแร่ธาตุต่างๆ ที่จับตัวกันเป็นก้อนแข็งที่เกิดขึ้นในกระเพาะปัสสาวะนั่นเอง
ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้เกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะขึ้นมาได้นั้น ทางหนึ่งก็คือเป็นนิ่วที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินปัสสาวะส่วนบน ซึ่งก็คือในไต หรือท่อไต แล้วเกิดการหล่นลงมาค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ ส่วนในอีกกรณีหนึ่งคือเกิดที่บริเวณกระเพาะปัสสาวะเองเลย ซึ่งเป็นผลมาจากการที่มีปัสสาวะเหลือค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะจนทำให้ตกตะกอนกลายเป็นก้อนนิ่วแข็ง
ใครคือกลุ่มเสี่ยงภัย เป็นโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะที่สุด?
กลุ่มเสี่ยงสำหรับคนที่มีโอกาสเป็นโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็นหลักๆ 3 ปัจจัย ได้แก่
1.ปัจจัยด้านภูมิลำเนา
ปัจจัยด้านภูมิลำเนา โดยสถิติมักพบในผู้ที่อยู่แถบภาคเหนือ และภาคอีสาน เพราะคนภูมิลำเนาแถบนี้จะมีลักษณะของกรรมพันธุ์ที่มี “การสังเคราะห์เกลือแร่” หรือสารบางอย่างผิดปกติไป ทำให้ปัสสาวะมีความเข้มข้นมากกว่า ทำให้มีโอกาสเกิดการตกค้าง และเป็นนิ่วในในกระเพาะปัสสาวะได้มากกว่า
นอกจากนั้นแล้ว อาหารในถิ่นภาพเหนือ ภาคอีสาน ก็ยังมีส่วนทำให้เกิดนิ่วได้มากกว่าอาหารพื้นถิ่นอื่นๆ โดยกลุ่มอาหารที่ทำให้ปัสสาวะมีโอกาสเกิดการตกตะกอนได้มาก ได้แก่ อาหารที่มีแคลเซียม และ ออกซาเลต สูง และอาหารที่มียูริกสูง เช่น หน่อไม้ ข้อไก่ ปีกไก่ หรือเมนูอะไหล่สัตว์ปีก อย่างต้มแซ่บซุปเปอร์ เล้ง เป็นต้น รวมถึงผักยอดทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น กะถิน ชะอม เป็นต้น
2.ปัจจัยด้านเพศสรีระ
ปัจจัยด้านเพศสรีระ โดยตามสถิติมักพบในผู้ชายได้มากกว่าผู้หญิง เนื่องมาจากระบบทางเดินปัสสาวะของเพศชายมีความซับซ้อน ยืดยาวกว่า หรือมีโอกาสเกิดการตีบตันในท่อทางเดินปัสสาวะได้มากกว่า จึงทำให้มีโอกาสเกิดการเหลือค้าง ตกค้างของปัสสาวะได้มากกว่า จนกลายเป็นที่มาของการเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะที่มากกว่า
3.ปัจจัยด้านการดื่มน้ำ
ปัจจัยด้านการดื่มน้ำ ถือเป็นสาเหตุหลักสำคัญที่สุดที่ทำให้ไม่ว่าใครก็ตาม มีโอกาสเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้มากขึ้น หากดื่มน้ำน้อยเกินไป เพราะ การดื่มน้ำที่ไม่เพียงพอนั้น จะทำให้เกลือแร่ ตลอดจนสารต่างๆ ที่มีอยู่ในปัสสาวะนั้น ถูกทำละลายได้น้อย ขับออกมาไม่หมด และตกค้างจนกลายเป็นผลึกก้อนนิ่วในกระเพาะปัสสาวะไปในที่สุด
สังเกตอาการอย่างไร ว่าอาจใช่นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ?
ในความเป็นจริงแล้วอาการของโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะนั้น มีหลากหลายรูปแบบ และมีความคลุมเครืออยู่ไม่น้อย กล่าวคือ อาจไม่มีอาการแสดงที่ชัดเจน หรือไม่มีอาการอะไรเลยก็ได้ แต่สามารถตรวจพบได้จากการมาตรวจสุขภาพประจำปี ทั้งนี้ ในบางรายก็อาจมาด้วยอาการ “กระเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อยๆ” และเมื่อมาตรวจละเอียดก็พบว่าเป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ เพราะนิ่วจะเป็นจุดที่ทำให้มีแบคทีเรียไปสะสมจนทำให้เกิดการอักเสบได้ หรือบางรายที่เป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะแบบหนักมากๆ ก็จะพบอาการ “ปัสสาวะปนเลือด” หรือหากนิ่วในกระเพาะปัสสาวะหล่นลงไปอุดบริเวณท่อปัสสาวะ ก็จะทำให้คนไข้มีอาการ “ปัสสาวะไม่ออกเฉียบพลัน ปัสสาวะสะดุด หยุด เหมือนมีก้อนอะไรไปอุดท่อน้ำ”
นอกจากนั้นแล้ว ในคนไข้บางราย ก็อาจมีอาการ “ปัสสาวะแล้วปวด ปัสสาวะแล้วมีก้อนนิ่วหลุดออกมา” ก็ได้ ซึ่งเนื่องจากอาการของโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะนั้นค่อนข้างหลากหลาย เราจึงต้องหมั่นสังเกตให้ดี และหากพบมีอาการผิดปกติดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ควรรีบไปปรึกษาแพทย์โดยด่วน
วินิจฉัยรักษาอย่างไร เมื่อเป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ?
การวินิจฉัยโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะนั้น แพทย์จะเริ่มต้นจากการซักประวัติ สอบถามอาการ และตรวจปัสสาวะดูว่ามีเม็ดเลือดหรือมีตะกอนของนิ่วหรือไม่ ตลอดจนมีการอักเสบอื่นใดอยู่ด้วยหรือเปล่า? หลังจากนั้นก็จะทำการเอ็กซเรย์ อัลตราซาวด์ ก็จะสามารถทราบได้อย่างแน่ชัดเลยว่า ใช่โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะหรือไม่ใช่กันแน่ โดยหากพบว่าคนไข้เป็นโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ก็จะมีกระบวนการในการรักษาแบ่งออกเป็น 3 วิธี ตามความขนาดความรุนแรงของโรค ดังต่อไปนี้
- นิ่วมีขนาดเล็กมากๆ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นกรณีที่หล่นมาจากท่อไต แพทย์สามารถให้คนไข้ดื่มน้ำเยอะๆ ร่วมกับการทานยาขยายท่อปัสสาวะ และปล่อยให้ปัสสาวะขับนิ่วออกมาเองก็ได้
- นิ่วมีขนาดไม่เกิน 2 ซม. ซึ่งถือว่ายังไม่ใหญ่มาก แพทย์สามารถรักษาได้ด้วยการส่องกล้องที่มีขนาดเล็กเข้าไปในท่อปัสสาวะได้ เพื่อทำการสลายก้อนนิ่ว แล้วดูดเอาเศษนิ่วทั้งหมดออกมา ซึ่งการรักษาในกรณีนี้หลังจากส่องกล้องเรียบร้อย คนไข้จะใส่สายปัสสาวะไว้ 1 คืน เพื่อให้กระเพาะปัสสาวะได้พัก และภายในไม่เกิน 24 ชั่วโมง ก็จะสามารถกลับบ้านได้
- นิ่วมีขนาดใหญ่กว่า 2 ซม. ขึ้นไป แพทย์จะทำการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด โดยเป็นการผ่าแบบเปิดแผลที่หน้าท้อง เพื่อเปิดกระเพาะปัสสาวะแล้วนำนิ่วก้อนใหญ่ออกมา ก่อนเย็บปิดแผลให้เรียบร้อย แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนผ่าตัดรักษา แพทย์จะต้องทำการวินิจฉัยให้ทราบแล้วด้วยว่า เป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะจากสาเหตุใด เพื่อให้ผ่าตัดแล้วจะได้รักษาให้ตรงจุด จะได้ไม่เกิดนิ่วซ้ำอีก เช่น หากคนไข้เป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะร่วมกับมีภาวะต่อมลูกหมากโต แพทย์ก็จำเป็นต้องแก้ไขโรคต่อมลูกหมากด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดปัสสาวะตกค้างและกลับมาเป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะซ้ำได้อีก ทั้งนี้ หลังผ่าตัดส่วนใหญ่ จะใช้เวลาพักฟื้น และเฝ้าสังเกตอาการแทรกซ้อน ประมาณ 3-4 วัน ก็จะสามารถกลับบ้านได้
ดูแลตัวเองอย่างไร ให้ปลอดภัยจากนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ?
ในภาพรวมแล้วการดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะนั้น สามารถทำได้โดยการดื่มน้ำมากๆ ร่วมกับการควบคุมการรับประทานอาหารให้เหมาะสม โดยหลีกเลี่ยงอาหารกลุ่มที่มีแคลเซียม ออกซาเลต และยูริกสูง นอกจากนั้นก็ควรหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี โดยตรวจในเรื่องของแคลเซียม ยูริก และก็ตรวจสอบดูว่าในปัสสาวะมีเลือด มีผลึกอะไรปนหรือเปล่า เพื่อให้ตรวจพบเจอตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะถ้าตรวจพบนิ่วในกระเพาะปัสสาวะตั้งแต่ก้อนเล็กๆ ก็สามารถรับประทานยาและดื่มน้ำให้ขับออกมาได้เอง แต่หากปล่อยไว้จนกลายเป็นนิ่วก้อนใหญ่ ก็จะต้องรักษาด้วยการส่องกล้อง หรือผ่าตัด ซึ่งทำให้เราต้องเจ็บตัวมาก และเสียค่าใช้จ่ายมากโดยไม่จำเป็น
แม้โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ จะไม่ใช่โรคที่มีความอันตรายรุนแรงน่ากลัว แต่หากเราละเลยใส่ใจที่จะดูแลตัวเอง และทำให้เกิดนิ่วก้อนใหญ่ขึ้นในกระเพาะปัสสาวะ ก็จะทำให้คุณภาพชีวิตเราต้องลดลง ต้องเจ็บปวดทุกข์ทรมาน กับการปัสสาวะแสบขัด หรือปัสสาวะไม่ออก อีกทั้งยังต้องเสียค่ารักษาพยาบาลโดยไม่จำเป็นอีกด้วย ดังนั้น กับเพียงแค่การดื่มน้ำให้มากๆ ดื่มน้ำให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่เหมาะสม จึงเป็นสิ่งที่เราควรเตือนตัวเองให้ตระหนักถึงความสำคัญและไม่ควรมองข้าม เพื่อความสุขของตัวเราเอง