ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความสุขในชีวิตของเราทุกคนนั้น ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นมาได้เพราะ “การได้ยินเสียง” ซึ่งหากปราศจากความสามารถในการได้ยินไป ก็คงเป็นเรื่องใหญ่ที่จะทำให้ชีวิตเรามีความสุขได้น้อยลง และต้องพบกับความลำบากมากขึ้นอย่างแน่นอน
ทั้งนี้หนึ่งในโรคอันตรายที่ถือว่าเป็น “ภัยเงียบ” ที่ทำร้ายการได้ยินของเราได้จนถึงขั้นอาจทำให้หูหนวกไปเลยก็คือ “โรคเส้นประสาทหูชั้นในดับเฉียบพลัน” ซึ่งเกิดขึ้นได้จากสาเหตุใดนั้น ตามไปหาคำตอบกันได้ในบทความนี้เลยค่ะ
เส้นประสาทหูชั้นในดับเฉียบพลันคืออะไร ทำไมจึงเกิดขึ้นได้?
“โรคเส้นประสาทหูชั้นในดับเฉียบพลัน” หรือ “Sudden Sensolynural Hearing Loss” คือ ภาวะที่หูสูญเสียการได้ยิน “ลดลงมากกว่า 30 เดซิเบล” ในช่วงเวลา 72 ชั่วโมง โดยสามารถเกิดขึ้นได้พร้อมกันทั้ง 2 ข้าง แต่มักพบว่าจะเป็นข้างใดข้างหนึ่งมากกว่า โดยส่วนใหญ่ของผู้ป่วย 90% มักไม่ทราบสาเหตุ แต่อีก 10% เกิดได้จากสาเหตุต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- เกิดจากการติดเชื้อไวรัส
- เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ไทรอยด์ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง และโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น
- เกิดจากการได้รับยาฆ่าเชื้อในกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์
- เกิดจากการไหลเวียนของเลือดในหูน้อยลง อันเนื่องมาจากความดันต่ำ หรือเสียเลือดมาก
- เกิดจากภาวะพักผ่อนน้อยเกินไป
- เกิดจากโรคน้ำในหูไม่เท่ากันขั้นรุนแรง ซึ่งจะทำให้มีอาการเวียนหัวร่วมด้วย
- เกิดจากเนื้องอกในสมอง หรือเนื้องอกที่เส้นประสาทหู
- การได้ยินเสียงดังมาก ๆ รวมถึงการใส่หูฟังเพลงดัง ๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน หลับพร้อมกับที่ยังใส่หูฟังเพลงอยู่ ก็ทำให้มีเสี่ยงเกิดเป็น โรคประสาทหูชั้นในดับเฉียบพลัน ได้
อาการแบบไหน น่าสงสัยว่าประสาทหูชั้นในดับเฉียบพลัน?
โรคประสาทหูชั้นในดับเฉียบพลันนั้น คนไข้จะสูญเสียการได้ยินแบบเฉียบพลัน โดยดับวูบไปอย่างรวดเร็วภายใน 3 วัน ซึ่งสุดท้ายหากไม่ได้รับการรักษาการได้ยินก็จะบกพร่องอยู่อย่างนั้น หรือเป็นหนักขึ้นจนถึงขั้นหูหนวก ไม่ได้ยินอะไรเลยได้ ทั้งนี้ อาการร่วมที่อาจเกิดขึ้นได้กับอาการหูดับวูบ ได้แก่ การได้ยินเสียงดังในหู ซึ่งเป็นเสียงอื้อ ๆ ก้อง ๆ ที่เกิดขึ้นเองจากหู โดยที่ไม่ได้ยินเสียงภายนอก หรือบางรายจะรู้สึกเหมือนมีอะไรแน่น ๆ ติดขัดในหู ความสามารถในการได้ยินลดลง ต้องคอยฟังซ้ำ ต้องเปิดทีวีเสียงดังขึ้น เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม อาการโรคประสาทหูชั้นในดับเฉียบพลันนี้ “จะไม่มีอาการปวดร่วมด้วย” และโรคนี้จะต่างจากภาวะหูอื้อธรรมดาโดยทั่วไปคือ จะไม่ได้หายภายใน 1 วัน แต่จะคงอยู่ไปเรื่อย ๆ และอาจได้ยินน้อยลงไปเรื่อย ๆ ได้
วินิจฉัยอย่างไร จึงมั่นใจว่าใช่โรคประสาทหูชั้นในดับเฉียบพลัน?
ในเบื้องต้นของการวินิจฉัยโรคประสาทหูชั้นในดับเฉียบพลัน แพทย์จะทำการตรวจร่างกายคนไข้ก่อน เพื่อแยกภาวะโรคหูชั้นนอกและหูชั้นกลางออกไป หลังจากนั้นจึงนำคนไข้ไปตรวจ “Audiogram” หรือ “ตรวจการได้ยิน” ซึ่งใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที โดยแพทย์จะพาคนไข้เข้าห้องเงียบ แล้วให้ใช้หูฟังเสียงทีละข้าง เพื่อประเมินออกมาเป็นระดับการได้ยินแบบเดซิเบล พร้อมทั้งตรวจเรื่องความเข้าใจภาษาไปพร้อมกันด้วย ซึ่งผลที่ได้ออกมาจะบอกเป็นเปอร์เซ็นต์และกราฟ ที่ทำให้วินิจฉัยได้อย่างชัดเจนเลยว่า เป็นโรคประสาทหูชั้นในดับเฉียบพลันหรือไม่?
รักษาอย่างไร เมื่อเป็นโรคประสาทหูชั้นในดับเฉียบพลัน?
แนวทางในการรักษาโรคประสาทหูชั้นในดับเฉียบพลันนั้น แพทย์จะใช้การรักษาด้วย “ยาสเตียรอยด์” เป็นหลัก โดยจะให้ชนิดรับประทานก่อนประมาณ 1-2 สัปดาห์ ซึ่งหากอาการยังไม่ดีขึ้น ระดับการได้ยินยังบกพร่องรุนแรง ก็จะพิจารณารักษาด้วยการฉีดยาแบบ Intra Tim Phonic Steroid Injection แทน โดยเป็นการฉีดสเตียรอยด์เข้าไปในหูชั้นกลางผ่านทางเยื่อแก้วหู แล้วหลังจากนั้นก็จะทำการนัดมาตรวจการได้ยินทุก ๆ 1 สัปดาห์จนกว่าคนไข้จะหายดีเป็นปกติ ทั้งนี้ แพทย์จะพิจารณาฉีดยาสเตียรอยด์ ใน 3 กรณี ได้แก่
- คนไข้มีประวัติเป็นโรคเบาหวาน และไม่อยากทานยา เพราะการรับประทานยาสเตียรอยด์มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด การฉีดยาสเตียรอยด์จึงเป็นวิธีการรักษาที่เหมาะสมกว่า เนื่องจากยาถูกฉีดเข้าไปในหูชั้นกลางผ่านทางเยื้อแก้วหู ไม่ได้ฉีดเข้าสู่กระแสเลือด จึงไม่ทำให้ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด
- ฉีดในกรณีที่คนไข้มีอาการเสียการได้ยินขั้นรุนแรงมาก ซึ่งก็จะต้องใช้การรับประทานยาร่วมด้วย
- ฉีดในกรณีที่รับประทานยาแล้วไม่ได้ผล
ทั้งนี้ ในกระบวนการรักษาทั้งหมด แพทย์อาจพิจารณาให้วิตามินบี 12 เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในหูให้กับคนไข้ด้วย ซึ่งก็จะช่วยให้อาการเสียการได้ยินนั้นหายเป็นปกติเร็วมากยิ่งขึ้น
ดูแลตัวเองอย่างไร ให้ห่างไกลโรคประสาทหูชั้นในดับเฉียบพลัน?
เนื่องจากโรคประสาทหูชั้นในดับเฉียบพลันนั้น เกิดได้ทั้งจากที่ทราบสาเหตุแน่ชัด และไม่ทราบสาเหตุ ดังนั้น ในการดูแลตัวเองจึงมีแนวทาง ดังต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการฟังเสียงดัง อยู่ในพื้นที่ที่มีเสียงดังเป็นเวลานาน ๆ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- รับประทานอาหารที่ปรุงสุกเสมอ เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อไวรัสที่อาจทำให้หูดับได้
- ลดอาหารรสจัด ไม่ว่าจะเป็น เค็ม มัน หวาน เพราะ โรคเบวหาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เป็นสาเหตุของการเกิดโรคนี้
- หลีกเลี่ยงการแคะหูรุนแรง ที่ทำให้แก้วหูทะลุ เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อไปยังหูชั้นในได้
เนื่องจากความผิดปกติของโรคประสาทหูชั้นในดับเฉียบพลัน อาจมีความคล้ายกับการหูอื้อ ได้ยินน้อยลงหลังจากได้ยินเสียงดังมาก ๆ จึงทำให้บางคนชะล่าใจ และปล่อยทิ้งไว้ คิดว่าเป็นแค่หูอื้อธรรมดา จึงเสี่ยงเป็นอันตรายมากขึ้น
ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยและการรักษาที่มีประสิทธิภาพ หากพบอาการผิดปกติเกี่ยวกับการได้ยินที่ 1 วันแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรรีบมาปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยให้ทราบว่าเป็นโรคใดกันแน่ จะได้วางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทันท่วงทีก่อนที่จะเกิดอันตรายจนถึงขั้นหูหนวก สูญเสียการได้ยินไปตลอดกาล