“หัวใจล้มเหลว” คือหนึ่งในภาวะของโรคหัวใจที่อันตรายจนถึงขั้นทำให้คนไข้เสียชีวิตได้ แต่คนโดยทั่วไปก็มักจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว เพราะความเชื่อที่เข้าใจว่าจะเป็นโรคหัวใจ หรือจะเกิดภาวะ หัวใจล้มเหลว ได้นั้น ก็ต้องสูงวัยก่อน อายุเยอะก่อน จึงค่อยดูแล ป้องกันตัวเอง แต่ในความเป็นจริงนั้น ต่อให้เป็นคนหนุ่มสาว เป็นวัยรุ่นวัยทำงาน ก็มีโอกาสเผชิญหน้ากับภาวะ หัวใจล้มเหลว ได้
ซึ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือ ปัจจุบันแนวโน้มพบว่าคนอายุน้อย ๆ นั้นมีอัตราการเกิดภาวะ หัวใจล้มเหลว มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นผลมาจากสาเหตุใดนั้น วันนี้เรามีคำตอบมาฝาก เพื่อให้ทุกคนสามารถดูแลตัวเองให้รอดพ้นจากภัยร้ายของภาวะหัวใจล้มเหลวได้มากยิ่งขึ้น
หัวใจล้มเหลวคืออะไร ทำไมหัวใจถึงได้ล้มเหลว?
หัวใจล้มเหลว คือ ภาวะที่หัวใจไม่สามารถปั๊มเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ เพราะหัวใจคนเรานั้นเปรียบได้กับ “ปั๊มน้ำ” ที่หากว่าถ้าปั๊มอ่อนแรง ก็จะไม่สามารถส่งน้ำออกไปใช้งานได้ ดังนั้น เมื่อหัวใจอ่อนแรงไม่สามารถปั๊มเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วล่ะก็ จะส่งผลให้อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย “ขาดเลือด” หรือ “ไม่สามารถใช้เลือดได้” ไม่สามารถนำเอา “ออกซิเจนในเลือด” ไปใช้งานได้ ซึ่งจะทำให้เรามี “อาการวูบ” เป็นลม หรือถ้าหากเป็นถึงขั้นรุนแรง คือปั๊มเลือดออกไม่ได้เลย ก็จะทำให้ “เลือดท้นท่วมอยู่ในปอด” ทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า “น้ำท่วมปอด” หายใจไม่ทัน กลายเป็นหัวใจล้มเหลวจนถึงขั้นทำให้หัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตได้ในที่สุด
ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวนั้น ก็ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นปัจจัยที่เป็นพิษต่อกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้หัวใจต้องแบกรับน้ำหนักเยอะ ทำให้หัวใจทำงานหนัก จนพองโตและนำไปสู่หัวใจล้มเหลวในที่สุด
อายุน้อยยังไม่สูงวัย ทำไมถึงหัวใจล้มเหลว?
เหตุผลที่ทำให้ “ภาวะหัวใจล้มเหลว” นั้น ถูกพบได้ในคนไข้ที่มีอายุน้อย เนื่องมาจาก “พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปของผู้คนในปัจจุบัน” ที่มีพฤติกรรมการบริโภคนิยมอาหารจำพวกฟาสต์ฟู้ดส์เยอะขึ้น นิยมบริโภคอาหารที่มีรสหวาน บริโภคน้ำตาลเยอะขึ้น ตลอดจนบริโภคอาหารรสจัด รสเค็มที่มีเกลือ มีโซเดียมสูง ซึ่งนำไปสู่ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ได้ง่ายขึ้น ซึ่งโรคทั้ง 2 นี้ถือว่าเป็นพิษต่อหัวใจและหลอดเลือด จึงทำให้มีความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวได้ง่ายและเร็วขึ้นกว่าเดิมแม้จะยังมีอายุน้อยอยู่
ทั้งนี้ พฤติกรรมที่ขาดการออกกำลังกาย ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวเร่งโอกาสเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้เช่นกัน อันเนื่องมาจากเมื่อร่างกายไม่ออกกำลังกาย และทานอาหารไม่เหมาะสม จนทำให้น้ำหนักเกินมาตรฐาน ก็จะเป็นสาเหตุนำไปสู่การเกิดโรคในกลุ่ม Non-communicable Disease หรือ NCDs ซึ่งก็คือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ฯลฯ อันเป็นโรคที่เป็นพิษต่อกล้ามเนื้อหัวใจ เป็นพิษต่อหลอดเลือด จนเป็นสาเหตุของภาวะหัวใจล้มเหลวในที่สุดนั่นเอง
สังเกตอาการอย่างไร เมื่อหัวใจล้มเหลว?
ในระยะเริ่มแรกของภาวะหัวใจล้มเหลว คนไข้จะมีอาการที่สังเกตเห็นได้ชัดเจน โดยจะรู้สึกว่า “ออกแรงได้น้อยลง หนื่อยง่ายเวลาออกแรง” ในระยะต่อมาเมื่อเป็นหนักขึ้น ก็จะพบอาการว่า “เหนื่อยแม้กระทั่งทำอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ แม้กิจวัตรประจำวันที่เคยทำได้ปกติ ที่ไม่เคยเหนื่อย ก็กลับรู้สึกเหนื่อยเมื่อต้องทำ” และในระยะต่อมาที่รุนแรงมากขึ้นนั้น เราจะพบอาการว่า “แม้กระทั่งนั่งอยู่เฉย ๆ ก็ยังรู้สึกเหนื่อย นอนราบแล้วไอ ขาบวม ตลอดจนน้ำหนักขึ้นเร็วกว่าปกติ” ซึ่งหากพบเห็นอาการในระยะนี้ จำเป็นต้องตระหนักไว้ให้ดีว่า ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะเป็นอันตรายมาก อาจทำให้หัวใจล้มเหลว จนถึงขั้นเสียชีวิตได้
รักษาอย่างไร เมื่อหัวใจล้มเหลว?
แนวทางในการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวนั้น คือ การรักษาเพื่อให้หัวใจกลับมาแข็งแรงตามปกติ โดยอันดับแรก หากตรวจพบว่ามีน้ำและเกลือในร่างกายมากเกินไป แพทย์ก็จะต้องทำการขับเอาน้ำและเกลือในร่างกายออกก่อน หลังจากนั้นจึงให้ยาเพื่อป้องกันการทำลายกล้ามเนื้อหัวใจ และสุดท้ายก็ต้องไปรักษาที่ต้นตอว่า “หัวใจล้มเหลวจากสาเหตุไหน?” เพื่อไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำได้อีก
อย่างไรก็ตาม หากการให้ยาร่วมกับการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต การรับประทานอาหาร ที่นำไปสู่การลดสาเหตุของการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ไม่ได้ผล หรือเป็นภาวะหัวใจล้มเหลวจากการที่หลอดเลือดหัวใจตีบตันมาก ๆ ลิ้นหัวใจรั่วรุนแรง จนไม่สามารถควบคุมรักษาด้วยการใช้ยาได้แล้ว ก็จำเป็นจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
ดูแลตัวเองอย่างไร ให้ห่างไกลหัวใจล้มเหลว
ภาวะหัวใจล้มเหลวนั้น ถ้าเป็นแล้ว ไม่มีทางรักษาหายขาด ดังนั้น ยิ่งหากเราปล่อยให้ตัวเองต้องเจอภาวะนี้เร็วขึ้น ก็จะยิ่งเท่ากับเป็นการทำให้ชีวิตเราต้องลำบากมากขึ้น มีความสุขน้อยลง เพราะปกติ คนส่วนใหญ่เป็นตอนอายุ 50 ปีขึ้นไป ก็ยังลำบากเลย แล้วถ้ามาเป็นตั้งแต่ 30 ต้น ก็ยิ่งลำบาก ยิ่งเสียโอกาสในชีวิตเข้าไปใหญ่
ดังนั้น เพื่อให้เราปลอดภัย มีสุขภาพแข็งแรงที่ห่างไกลจากภาวะหัวใจล้มเหลวนั้น สิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องทำตั้งแต่วันนี้ และเดี๋ยวนี้เลยก็คือ “การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต” เพื่อป้องกันไม่ให้เส้นเลือดเราเสื่อมเร็ว เราต้องดูแลตัวเองเรื่องอาหารการกิน และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ระวังอย่างให้ความดันสูง อย่าให้อ้วน อย่าให้น้ำหนักเกินมาตรฐาน อย่าให้ไขมันในเลือดสูง อย่าเป็นเบาหวาน อย่าสูบบุหรี่ อย่าดื่มเหล้า และก็อย่าเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะหากไม่ดูแลเรื่องเหล่านี้ล่ะก็ โอกาสที่เราจะหัวใจล้มเหลวตั้งแต่อายุน้อย ๆ ก็จะยิ่งมีมากยิ่งขึ้น
ชีวิตจะมีอายุยืนยาวได้มากแค่ไหน จะแข็งแรงและมีความสุขเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับการดูแลตัวเองของเราตั้งแต่วันนี้ จริงอยู่ที่ หัวใจล้มเหลวแล้วรักษาได้ มียาทาน ผ่าตัดรักษาก็ได้ แต่ก็ถือเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ ที่สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้ทำให้เรามีชีวิตที่มีความสุขอย่างแท้จริง เรายังต้องเสี่ยงภัยจากหัวใจล้มเหลวอยู่ตลอดชีวิต ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาเป็นจำนวนมาก
ดังนั้น หนทางที่ดีที่สุด ที่เป็นการรักษาหัวใจล้มเหลวที่ดีที่สุดจริง ๆ จึงหมายถึงการที่เราดูแลตัวเอง เพื่อให้เรามีร่างกายที่แข็งแรงและห่างไกลจากหัวใจล้มเหลวให้ได้มากที่สุดนั่นเอง ซึ่งหากเราทำได้ล่ะก็ ไม่เพียงแค่หัวใจล้มเหลวเท่านั้น แต่โรคร้ายอื่น ๆ ก็จะไม่มารุกรานกล้ำกลายทำลายความสุขในชีวิตเราง่าย ๆ ด้วย