MRI หรือ Magnetic Resonance Imaging คือ เครื่องตรวจร่างกายด้วยการสร้างภาพเสมือนจริง ที่ใช้พลังงานของคลื่นแม่เหล็ก ประมวลผลออกมาเป็นภาพด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจเข้าใจผิดว่าจะมีความเสี่ยงในเรื่องของรังสี แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีการใช้รังสีและไม่มีผลข้างเคียงแต่อย่างใด
แต่อย่างไรก็ตาม การตรวจ MRI ในเด็กนั้น ก็ถือว่ามีประเด็นที่จำเป็นต้องระมัดระวังเป็นพิเศษอยู่มากกว่าผู้ใหญ่ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจ เพื่อตัดสินใจในการให้ลูกน้อยเข้ารับการตรวจได้อย่างสบายใจมากขึ้น โดยเรื่องราวของการตรวจMRI ในเด็กที่คุณแม่คุณพ่อควรรู้นั้น มีดังต่อไปนี้
จำเป็นแค่ไหน ที่ต้องเข้ารับการตรวจMRI
การตรวจMRI เป็นการตรวจดูเพื่อให้เห็นด้วยตาเลยว่า “ส่วนไหนของร่างกาย” มีความผิดปกติ และมีความผิดปกติอย่างไร เช่น การทำMRI สมอง ก็จะทำให้ทราบได้อย่างชัดเจนว่า เนื้อสมองส่วนไหน บริเวณไหนมีความผิดปกติ ซึ่งจะทำให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้อง ตรงจุด อันนำมาซึ่งผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น การตรวจMRI จึงถือว่าเป็นการตรวจที่มีความสำคัญ เพราะส่งผลต่อผลลัพธ์ของการรักษาโดยตรง
การทำMRI ในเด็ก ต่างจากการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองอย่างไร?
เพื่อเป็นการอธิบายให้เห็นภาพชัดเจนระหว่างความแตกต่างของการทำMRI กับ การทำ EEG หรือการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองนั้น เราสามารถเปรียบได้กับการซ่อมโทรทัศน์เครื่องหนึ่ง ที่การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองเหมือนกับการนำไขควงไฟฟ้า ไปไขหาจุดที่ช็อตเพื่อดูว่ามีไฟรั่วตรงไหน ส่วนการทำMRI จะเป็นการฉายภาพให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่า จุดช็อตนั้นเป็นอย่างไร รุนแรงแค่ไหน
ทั้งนี้ ถ้าเราไม่ทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองก่อน แต่ทำMRI เลย ก็จะเหมือนกับการรื้อซ่อมโทรทัศน์ที่เสียเลย โดยที่ยังไม่รู้เลยว่าสาเหตุจริง ๆ นั้นมาจากตรงไหน ซึ่งก็อาจทำให้เกิดความเสียหายตรงจุดอื่น ๆ เพิ่มได้อีก
โดยหากมองย้อนกลับมาเป็นการตรวจรักษาสมอง การที่เราทำMRI จะช่วยทำให้ทราบได้ว่าจะต้องผ่าตัดเปิดกะโหลกหรือไม่ ถ้าผ่าตัดแล้วต้องผ่าตรงไหน อย่างไร ซึ่งลำพังเพียงแค่การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองนั้น ไม่เพียงพอที่จะบอกได้ชัดเจน เพราะบอกได้เพียงแค่ว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่เท่านั้น
การตรวจMRI ในเด็ก ยากกว่าการตรวจในผู้ใหญ่อย่างไร?
ความแตกต่างหรือความยากของการตรวจMRI ในเด็กกับในผู้ใหญ่นั้น สามารถสรุปได้ออกเป็น 3 เรื่องหลัก ๆ ได้แก่
1.เด็กไม่ให้ความร่วมมือ
เพราะภายในอุโมงค์ของการทำMRI นั้น สำหรับเด็กแล้วเป็นความมืดและแคบที่น่ากลัว อีกทั้งระยะเวลาในการทำMRI นั้น จะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 45 นาที จึงเป็นเรื่องยากมาก ๆ ที่เด็กจะยอมให้ทำการตรวจแต่โดยดี ดังนั้น เกือบทุกเคสของผู้ป่วยเด็กที่ต้องทำMRI จึงจำเป็นต้องให้ดมยาสลบ
2.การดมยาสลบในเด็กนั้นมีความเสี่ยง
เนื่องจากในอุโมงค์นั้นมืดและแคบ เราไม่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเด็กหลับหรือขาดออกซิเจน หรือเกิดมีการสำลักน้ำลายจนเสี่ยงอันตรายหรือไม่ ดังนั้น ในการทำ MRI สำหรับเด็กนั้น ทาง รพ. พญาไท 3 จึงเลือกใช้วิสัญญีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นคนเฝ้าดูแลอย่างในห้องอุโมงค์ MRI อย่างใกล้ชิด เพื่อลดภาวะเสี่ยงแทรกซ้อนที่อาจเกิดได้จากการทำMRI ให้ได้มากที่สุด
3.การอ่านผลMRI ในเด็กนั้นยากกว่าผู้ใหญ่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการทำMRI สมอง ที่เนื้อสมองของเด็กนั้นจะเล็กกว่าผู้ใหญ่มาก จึงจำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญและความละเอียดรอบคอบอย่างสูง เพราะหากอ่านผลMRI ผิดไปเพียงนิดเดียว ก็อาจนำมาซึ่งการรักษาผิดพลาดที่ทำให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้น ทาง รพ. พญาไท 3 จึงเลือกมอบหมายให้ศาสตราจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้อ่านผลMRI เด็กโดยเฉพาะเท่านั้น เพื่อให้ได้มาซึ่งการวางแผนการรักษาที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากที่สุด
การตรวจMRI นั้น เป็นการตรวจตามการพิจารณาของแพทย์เท่านั้น ซึ่งจะทำก็ต่อเมื่อต้องการวินิจฉัยสาเหตุของโรคให้ชัดเจน เพื่อให้สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในภาพรวมของความปลอดภัยนั้น หากเข้ารับการตรวจภายในโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาเด็กโดยเฉพาะ คุณพ่อคุณแม่ก็เบาได้เลยว่า จะมีความปลอดภัย และมีโอกาสในการเกิดความเสี่ยงได้น้อยลง
ซึ่งถ้าถามเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเลี่ยงการทำMRI คำตอบก็คือ หากแพทย์พิจารณาเห็นสมควรแล้ว ก็ควรทำเพราะจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ทางการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อยของเรานั่นเอง