ความเชื่อผิดๆ ที่ทำให้ชีวิตเสี่ยงมะเร็งเต้านมมากขึ้น

15 ความเชื่อผิด ๆ ที่ทำให้ชีวิตเสี่ยงมะเร็งเต้านมมากขึ้น

มะเร็งเต้านม ในปัจจุบันถือเป็นมะเร็งร้ายอันดับหนึ่งที่ผู้หญิงไทยเราเป็นกันมากที่สุด โดยสถิติคร่าว ๆ จากสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่า ในแต่ละปีนั้นจะมีผู้ป่วยรายใหม่กว่า 14,000 ราย หรือเฉลี่ยพบวันละไม่ต่ำกว่า 40 คน และมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงวันละไม่น้อยกว่า 10 คน ซึ่งด้วยความน่ากลัวของ มะเร็งเต้านม นี้เอง จึงทำให้เกิดการแชร์ข้อมูลข่าวสารผิด ๆ เกี่ยวกับ มะเร็งเต้านม ออกไปเป็นวงกว้าง

ซึ่งความเชื่อผิด ๆ ดังกล่าว ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดความแตกตื่นที่หนักขึ้นเท่านั้น แต่ยังส่งผลทำให้ผู้คน “มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมได้มากขึ้นด้วย” ถ้าหากดูแลตัวเองอย่างไม่ถูกต้อง ดังนั้น เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันให้ผู้หญิงทุกคนดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากมะเร็งเต้านมได้อย่างเหมาะสม วันนี้เราจึงจะพาไปแก้ไข 15 ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับมะเร็งเต้านมให้ทราบข้อเท็จจริงและถูกต้องมากขึ้น

1.ยิ่งหน้าอกใหญ่ ยิ่งเสี่ยงภัยมะเร็งเต้านมมากขึ้น

ถือเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะในความเป็นจริงนั้น “ขนาดของหน้าอก” ไม่เกี่ยวกับโอกาสในการเกิดมะเร็งเต้านมโดยตรง ส่วนเหตุผลที่ทำให้เชื่อกันว่า “หน้าอกเล็กเสี่ยงน้อย หน้าอกใหญ่เสี่ยงมาก” นั้น อาจเนื่องมาจากเวลาตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีเมมโมแกรมอัลตราซาวด์นั้น การมีเต้านมที่ใหญ่กว่า จะตรวจเจอความผิดปกติได้ง่ายกว่าเต้านมที่เล็ก จึงทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนผิดไป

2.ลูกกลิ้งดับกลิ่นกาย เป็นอันตรายทำให้เสี่ยงมะเร็งเต้านม

จากการศึกษาวิจันในปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานการศึกษาใดเลยที่บ่งบอกได้ว่า “สาร” ที่อยู่ในโรออล หรือผลิตภัณฑ์ดับกลิ่นกายทั้งหลาย มีส่วนกระตุ้น หรือทำให้เซลล์ในเต้านมกลายเปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็งได้ ดังนั้น จึงสบายใจได้เลยว่า การใช้ลูกกลิ้งดับกลิ่นกาย จะไม่เป็นอันตรายที่ทำให้เราเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมอย่างแน่นอน

3.ชุดชั้นใน มีผลทำให้โอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมสูงขึ้น

ถือว่ามีชุดความเชื่ออยู่หลากหลายเลยเกี่ยวกับชุดชั้นใน ว่ามีผลทำให้เกิดมะเร็งเต้านมได้ อาทิ ใส่ชุดชั้นในแบบมีโครงขดลวดแล้วจะทำให้เป็นมะเร็งเต้านม หรือ ใส่ชุดชั้นในนอนทุกคืนจะเพิ่มโอกาสทำให้เป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น ฯลฯ

ทั้งนี้ ทุกความเชื่อดังกล่าวถือเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะชุดชั้นในไม่มีผลใด ๆ ต่อโอกาสเกิดมะเร็งเต้านม โดยที่หลายคนกังวลว่าใส่ชุดชั้นในแล้วจะไปกดรัดเนื้อเต้านม จะทำให้เป็นมะเร็งได้นั้น ไม่เป็นความจริง แต่สามารถทำให้เกิดอาการเจ็บได้ ซึ่งคนส่วนใหญ่พอเจ็บแล้วก็จะรู้สึกกังวล แต่ในข้อเท็จจริงคือ “มะเร็งจะไม่เจ็บ” แต่จะคลำพบได้ว่าเป็นก้อนมากกว่า ดังนั้น ถ้าใส่ชุดชั้นในแล้วรู้สึกเจ็บ จึงไม่ได้หมายความว่าจะเป็นมะเร็งเต้านม

4.วิตามินเสริมผิวขาวหน้าใส มีผลทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมได้มากขึ้น

ในส่วนของวิตามินและคอลลาเจนนั้น ไม่มีผลทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม แต่สารใดก็ตามที่มีความเกี่ยวข้องกับ “ฮอร์โมน” โดยเฉพาะ “ฮอร์โมนเอสโตรเจน” จะถือว่ามีผลเกี่ยวข้องที่มีโอกาสทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมได้มากขึ้น เพราะมะเร็งเต้านมจะสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งก็คือเอสโตรเจน โดยหากร่างกายได้รับฮอร์โมนเข้าไปมาก ๆ ก็จะทำให้เซลล์เต้านมถูกกระตุ้นจนทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งได้มากขึ้น

ดังนั้น สำหรับการใช้ยาที่ดูแลเรื่องผิวพรรณซึ่งมีส่วนผสมของฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ช่วยในเรื่องหน้าใส จึงมีโอกาสทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้นได้นั่นเอง ทั้งนี้ ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน ก็มีผลโดยตรงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมได้ด้วย ถ้าใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆ เพราะมีฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นส่วนประกอบ

5.ซิลิโคนทำหน้าอกใหญ่ มีผลทำให้เป็นมะเร็งเต้านมได้

ในความเป็นจริงแล้วตัวซิลิโคนไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านมโดยตรง แต่เนื่องจากในคนไข้บางรายที่ทำศัลยกรรมเสริมหน้าอก ไม่ได้มีการตรวจคัดกรองเต้านมก่อน จึงทำให้ไม่ทราบว่าตัวเองมีก้อนมะเร็งเต้านมอยู่แล้ว ซึ่งภายหลังจากการเสริมหน้าอกเรียบร้อย ตัวซิลิโคนจะดันก้อนมะเร็งทำให้คลำเจอพบได้ง่ายมากขึ้น จึงเข้าใจผิดไปเองว่า การเสริมหน้าอกด้วยซิลิโคน มีผลทำให้เป็นมะเร็งเต้านม

6.การฉายรังสีเอ็กซเรย์เต้านม ส่งผลทำให้เป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น

ในการฉายรังสีเอ็กซเรย์เมมโมแกรมเพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมนั้น ปริมาณของรังสีที่ใช้ถือว่าไม่มากพอที่จะทำให้เกิดมะเร็งได้ แต่ถ้าหากเทียบกันระหว่างคนที่ฉายรังสีกับไม่ฉายรังสีแล้วล่ะก็ คนที่ฉายรังสีก็จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมได้มากกว่า แต่เมื่อพิจารณาถึงผลดีที่ทำให้เราทราบว่า “ตัวเองเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่นั้น” ก็ถือว่าเป็นประโยชน์มากกว่า เพราะทำให้เราป้องกันรักษาได้อย่างทันท่วงทีและมีชีวิตรอดจากภัยของมะเร็งได้

ดังนั้น หากจะถามหาข้อสรุปเท็จจริงเกี่ยวกับการฉายรังสีเอ็กซเรย์เมมโมแกรม ก็คือ รังสีที่ฉายจากการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมมีโอกาสทำให้เป็นมะเร็งเต้านมได้ แต่มีผลน้อยมาก เทียบกับประโยชน์ที่ช่วยในการคัดกรองรักษาแล้ว ก็คุ้มค่า และควรทำดีกว่าไม่ทำ

7.การกดทับจากเครื่องเอ็กซเรย์เมมโมแกรม มีผลทำให้เต้านมอักเสบ

ในการทำเมมโมแกรมเพื่อคัดกรองมะเร็งเต้านมนั้น จะมีการใช้เครื่องมือในการ “หนีบเต้านม” เพื่อจัดตำแหน่งก่อนจะฉายรังสีเอ็กซเรย์ ซึ่งอาจทำให้คนไข้บางรายที่มีเนื้อเต้านมน้อยรู้สึกเจ็บได้ เหมือนกับการ “โดนหยิก” แต่จะไม่รุนแรงถึงขั้นทำให้เกิดอาการเต้านมอักเสบ จนต้องทานยารักษา ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องกังวลหรือกลัวการทำเมมโมแกรมอัลตราซาวด์ เพราะมีประโยชน์มากกว่ามีโทษ

8.ตรวจเมมโมแกรมอย่างเดียวก็พอ ไม่จำเป็นต้องอัลตราซาวด์เพื่อคัดกรองมะเร็งเต้านม

อาจเพียงพอสำหรับคนไข้ในต่างประเทศ เนื่องจากว่าด้วยสรีระแล้ว เนื้อเต้านมของชาวต่างชาติจะเป็นไขมัน จึงทำให้เอ็กซเรย์ตรวจพบได้ง่ายว่าเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่ แต่สำหรับคนไข้ในโซนเอเชียรวมถึงประเทศไทยเรานั้น เนื้อนมจะเยอะ จึงทำให้การใช้เอ็กซเรย์เมมโมแกรมอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เพราะมีโอกาสที่จะไม่เห็นความผิดปกติได้มากกว่า

ดังนั้น เพื่อการคัดกรองที่มีประสิทธิภาพที่เหมาะสมกับสรีระของคนในบ้านเราแล้วนั้น การพิจารณาตรวจด้วยการอัลตราซาวด์ก็จะช่วยทำให้คัดกรองได้ดีขึ้น เห็นก้อนได้ชัด และวินิจโรคอันนำไปสู่การรักษาได้ดีขึ้น

9.เคยตรวจเมมโมแกรมแล้ว ไม่จำเป็นต้องทำทุกปีก็ได้

ในการเริ่มทำการคัดกรองมะเร็งเต้านมนั้น เพื่อความปลอดภัยที่สุด สำหรับผู้หญิงที่ไม่มีอาการอะไรบ่งชี้มาก่อนเลย แพทย์แนะนำให้เริ่มต้นทำตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป ทำเรื่อย ๆ ต่อเนื่องกันทุกปี จนกว่าจะทำไม่ได้ แต่ในผู้หญิงที่มีอาการ มีการคลำเจอก้อน แนะนำให้เริ่มต้นทำเมมโมแกรมร่วมกับการทำอัลตราซาวด์ตั้งแต่อายุ 30 ปี เพื่อให้สามารถคัดกรองโรคได้ดี เพื่อให้รักษาได้เร็วเมื่อตรวจพบเจอตั้งแต่ระยะแรก ๆ

10.ผู้ชายปลอดภัย ไม่ต้องกังวลใจห่วงจะเป็นมะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านมสามารถเกิดในผู้ชายได้เช่นกัน โดยปัจจุบันตามสถิติอยู่ที่ร้อยละ 1 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั้งหมด โดยสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์ และอีกส่วนหนึ่งก็เกิดจากสภาพร่างกายและฮอร์โมนของแต่ละบุคคลเอง ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะมีโอกาสเป็นได้น้อยกว่าผู้หญิงมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นไม่ได้ จึงต้องหมั่นดูแลตัวเอง สังเกตอาการ และป้องกันไว้ก่อน จึงจะปลอดภัยที่สุด

11.มีคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็ง จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น

ไม่จำเป็นเสมอไป ต้องพิจารณารายละเอียดปัจจัยอื่น ๆ ประกอบเพิ่มเติม ถึงแม้กรรมพันธุ์จะมีส่วนที่ทำให้เกิดมะเร็งได้ แต่สำหรับมะเร็งเต้าต้อง ก็ต้องพิจารณาจากประวัติว่า คนในครอบครัวที่เป็นมะเร็งเต้านมนั้น เป็นตอนอายุกี่ปี ถ้าเป็นตั้งแต่อายุน้อย ๆ เช่นอายุน้อยกว่า 40 ปี ก็ถือว่ามีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมจากกรรมพันธุ์ได้

แต่ถ้าคนใกล้ตัวเป็นมะเร็งตอนอายุมาก ๆ ก็อาจเป็นด้วยสภาพร่างกายของตัวเอง ไม่ได้เกิดจากกรรมพันธุ์ก็ได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะมีญาติเคยเป็นมะเร็งหรือไม่มาก่อน เราก็มีโอกาสป่วยเป็นมะเร็งเต้านมได้ทั้งหมด

12.ซีสต์ที่เต้านม หากปล่อยทิ้งไว้ จะกลายเป็นมะเร็งในที่สุด

ซีสต์ จะมีอยู่ด้วยกัน 3 ประเภท ได้แก่ ซีสต์ถุงน้ำธรรมดา ซีสต์ที่เป็นถุงน้ำขุ่น น้ำหนอง และซีสต์ที่มีเนื้อปนอยู่ข้างในด้วย ทั้งนี้ ซีสต์ 2 ประเภทแรกที่เป็นถุงน้ำนั้น จะไม่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม จะเป็นให้มีเพียงแค่อาการเจ็บ อักเสบเท่านั้น แต่สำหรับซีสต์ที่ข้างในมีเนื้อปนอยู่ด้วย ก็จะถือว่ามีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นมะเร็งได้ ซึ่งก็ต้องเจาะตัดชิ้นเนื้อไปตรวจพิสูจน์

13.เมื่อคลำเจอก้อนเนื้อเมื่อไร แสดงว่าใช้มะเร็งเต้านมแน่นอน

ก้อนเนื้อที่เต้านม ไม่จำเป็นต้องเป็นมะเร็งเต้านมเสมอไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาด ลักษณะ และช่วงอายุในการเจอก้อนเนื้อนั้น ๆ ด้วย ซึ่งการพิสูจน์เพื่อให้ทราบว่าก้อนเนื้อนั้นเป็นมะเร็งหรือไม่ ก็ทำได้ด้วยการเอ็กซเรย์เมมโมแกรม อัลตราซาวด์ ซึ่งถ้าตรวจลักษณะดูแล้วพบว่าไม่ใช่มะเร็ง และมีก้อนขนาดเล็กมาก ประมาณไม่เกิน 1 ซม. ส่วนใหญ่ก็จะไม่จำเป็นต้องตัดทิ้ง เพราะสามารถหายไปเองได้ แต่ใช้การติดตามอาการ

ทั้งนี้ แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดเอาออก ก็ต่อเมื่อก้อนเนื้อนั้นมีขนาดใหญ่เกิน 3 ซม. เพราะบางทีการเจาะตัดชิ้นเนื้อไปตรวจก็ไม่สามารถอธิบายก้อนเนื้อทั้งก้อนได้ การตัดออกจะลดความเสี่ยงได้มากกว่า

14.ผู้หญิงอ้วนมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้ มากกว่าผู้หญิงผอม

ความอ้วนมีผลโดยตรงกับโอกาสในการเกิดมะเร็งเต้านม เนื่องจากไขมันสามารถเปลี่ยนเป็นเอสโตรเจนได้ ซึ่งฮอร์โมนเอสโตรเจนนั้นมีส่วนสัมพันธ์กันกับโอกาสเกิดมะเร็งเต้านม

ดังนั้น ผู้หญิงอ้วน หรือ แม้กระทั่งแต่กับผู้ชายอ้วน ก็จะมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมที่มากกว่าคนที่ผอม หรือมีน้ำหนักได้มาตรฐาน เพราะปริมาณเอสโตรเจนในร่างกายพวกเขานั้น มีสูงกว่า

15.ดื่มน้ำเต้าหู้มากไป ทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น

ในน้ำเต้าหู้ และนมถั่วเหลืองนั้น จะมี “สารไพโบเอสโตรเจน” ซึ่งเป็นเอสโตรเจนจากพืชผสมอยู่ แต่ว่าปริมาณที่บริโภคนั้นไม่ได้เยอะมากพอที่จะทำให้ส่งผลต่อโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น ซึ่งปริมาณที่หากทานแล้วจะทำให้มีโอกาสเสี่ยงมากขึ้นนั้น จำเป็นต้องทานเยอะมาก ๆ แบบวันละหลาย ๆ ลิตรทุก ๆ วันติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องกังวลว่า ดื่มน้ำเต้าหู้และนมถั่วเหลืองในปริมาณปกติแล้ว จะทำให้เป็นมะเร็งเต้านม

แม้ปัจจุบันมะเร็งเต้านมจะมีอุบัติการณ์ที่หนักขึ้น คือพบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ในแง่ของการรักษานั้น ถือว่ามีผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ คือ มีอัตราการรอดชีวิตสูงกว่ามะเร็งอื่น ๆ ดังนั้น เราจึงไม่ควรที่จะตื่นตระหนกไปกับข่าวความเชื่อผิด ๆ จนเกินไป และควรหันมาใส่ใจกับการศึกษาทำความรู้จักมะเร็งเต้านมอย่างถูกต้อง เพื่อจะได้เรียนรู้วิธีสำรวจตัวเอง เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งอย่างต่อเนื่องเมื่อถึงเกณฑ์ เพื่อให้สามารถตรวจพบเจอได้เร็ว และรักษาให้หายขาดได้ไว กลับมามีชีวิตที่มีความสุขได้อีกนาน ๆ แม้ว่าจะถูกมะเร็งเต้านมเล่นงานก็ตาม

บทความที่เกี่ยวข้อง
Scroll to Top

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า