เมื่อพูดถึง การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง ขนาดผู้ใหญ่เองฟังแล้วก็ยังรู้สึกว่าเป็นอะไรที่น่ากลัว ซึ่งยิ่งพอมาเป็น การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง สำหรับเด็กด้วยแล้ว ก็ยิ่งสร้างความกังวลให้กับคุณพ่อคุณแม่มากขึ้นไปอีกหลายเท่า จนพาให้รู้สึกไม่ค่อยอยากให้ลูกเข้ารับการตรวจสักเท่าไร
แต่ทั้งนี้ทราบหรือไม่ครับว่า แท้จริงแล้ว การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง นั้น ไม่ได้อันตราย ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด และยังเป็นการตรวจที่มีประโยชน์มาก ๆ ที่จะช่วยให้ทราบสาเหตุของโรคร้ายที่หลบซ่อนอยู่ได้ ซึ่งเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่เบาใจ และสบายใจมากขึ้น วันนี้เราจึงจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองในเด็กแบบเจาะลึกกันครับ
การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองในเด็กคืออะไร ทำไมจึงจำเป็นต้องตรวจ?
“การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง” หรือ EEG: Electroencephalogram คือ การตรวจการทำงานของระบบไฟฟ้าในสมองเพื่อดูว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ซึ่งโดยปกติแล้ว การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองนั้น จะไม่ได้เป็นการตรวจหาโรค แต่เป็นการตรวจเพื่อยืนยันว่าคนไข้เป็นโรคที่สงสัยจริง ๆ หรือเปล่า เพราะบ่อยครั้งประวัติการตรวจร่างกาย และอาการผิดปกติที่แสดงออกมา ก็อาจไม่เพียงพอที่จะบอกได้ว่าเป็นโรคอะไรกันแน่ จึงจำเป็นต้องอาศัยการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองในการยืนยัน และนำไปสู่การตรวจวินิจฉัยแบบเจาะลึกเพื่อวางแผนการรักษาที่ถูกต้งเหมาะสมต่อไป
โรคใดบ้างในเด็ก ที่ต้องอาศัยการตรวจเช็คคลื่นไฟฟ้าสมอง?
โดยปกติแล้วไม่ใช่คนไข้เด็กทุกรายที่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง แต่แพทย์จะพิจารณาตรวจในเด็กที่มีอาการผิดปกติ ดังต่อไปนี้
ตรวจในเด็กที่เป็นโรคลมชักรายใหม่
หรือสงสัยว่าอาจจะเป็นโรคลมชัก ที่มาด้วยอาการชักเกร็ง กระตุกทั้งตัว มีประวัติชักบ่อย ชักนาน หรือชักรุนแรง เพราะทั้ง 3 กลุ่มนี้เป็นอาการที่มีแนวโน้มจะเกิดผลเสียต่อเด็กในระยะยาวได้ และไม่ทราบว่าความรุนแรงของโรคลมชักนั้นมีมากแค่ไหน ไม่ทราบว่ามีความผิดปกติอย่างอื่นมากกว่าอาการที่แสดงออกหรือเปล่า จึงต้องได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองเพื่อยืนยันโรคและระดับความรุนแรงของอาการ
ตรวจในเด็กที่เป็นโรคลมชักอยู่แล้ว
โดยแพทย์นัดมาตรวจติดตามผลว่า หลังจากทานยาแล้วคลื่นไฟฟ้าสมองที่ผิดปกตินั้นมีแนวโน้มดีขึ้นหรือไม่อย่างไร เพื่อจะได้ตัดสินใจได้ว่ายาที่ใช้ในการรักษานั้นตอบสนองต่อโรคดีแค่ไหน รักษาได้ผลหรือไม่ อันจะมีผลต่อการวางแผนการรักษาต่อไป และจะทำให้ทราบได้ว่าเด็กจะเสี่ยงมีอาการชักในสถานการณ์ที่เรามองไม่เห็นมากน้อยแค่ไหน เพื่อจะได้วางแผนการดูแลและระมัดระวังไม่ให้เกิดอันตรายได้ดีขึ้น
ตรวจในเด็กที่มีประวัติแปลก ๆ
มีประวัติอาการที่ไม่ชัดว่า “ชักจริง” หรือไม่? เช่น เด็กบางคนอาจมาด้วยอาการเหม่อบ่อย ผลการเรียนตกต่ำ หรืออยู่ดี ๆ ก็เหม่อ นั่งทานข้าว หรือทำกิจกรรมอะไรสักอย่างหนึ่งอยู่ แล้วก็เกิดอาการค้างเหม่อทันที ฯลฯ ประวัติแบบนี้อาจสงสัยได้ว่าเป็นอาการ “ชักเหม่อ” ซึ่งถือเป็นรูปแบบหนึ่งของโรคลมชักในเด็ก
สำหรับเด็กที่เป็นโรคลมชักนั้น อาจมีสาเหตุมาจากการคลอดก่อนกำหนดก็ได้ หรือไม่เกี่ยวเลยก็ได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่จะบอกได้ว่าสาเหตุของโรคลมชักในเด็กแต่ละคนนั้นเกิดจากอะไร ก็ต้องตรวจให้แน่ชัดก่อนว่าเด็กเป็นโรคลมชักจริงหรือไม่? ซึ่งก็สามารถยืนยันได้ด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองนั่นเอง
มีขั้นตอนอย่างไร ในการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองในเด็ก?
การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองในเด็กนั้น สามารถทำได้ตั้งแต่ทารกแรกเกิด โดยไม่มีขั้นตอนใดเลยที่น่ากลัวและเป็นอันตราย ซึ่งสามารถทำได้ง่าย ๆ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
- ติดสายไฟฟ้าไว้ยังบริเวณหนังศีรษะ โดยแปะเอาไว้เฉย ๆ ไม่มีการเจาะใด ๆ ทั้งสิ้น
- ใช้ผ้าพันสายไฟฟ้าที่แปะเอาไว้ให้แน่นพอประมาณ เพื่อป้องกันการเคลื่อนหลุดของสายไฟฟ้า
- ทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองโดยใช้ระยะเวลาทั้งสิ้นประมาณ 20-30 นาที
- รอผลการตรวจเพื่อวิเคราะห์ว่าสมองมีความผิดปกติหรือไม่ บริเวณใด
ทั้งนี้ การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองในเด็กกับในผู้ใหญ่นั้น จริง ๆ แล้วไม่ได้แตกต่างกัน แต่ความพิเศษของการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองในเด็กจะอยู่ที่ “เด็กจะไม่ได้นิ่ง” เหมือนกับผู้ใหญ่ โดยส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยให้ความร่วมมือ คือจะกลัว ดิ้น ร้องไห้ ฯลฯ
ดังนั้น ในการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองในเด็กนั้น จึงจะต้องทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้เด็กนิ่งที่สุด เช่นหากเป็นเด็กเล็ก ก็อาจจะต้องให้นอนดูดจุกนม ให้ดื่มนมจนเสร็จ เพื่อให้อิ่มเคลิ้มและอยู่นิ่งได้จึงค่อยทำการติดสายไฟฟ้าเพื่อตรวจ ในขณะที่เด็กโตที่ไม่สามารถพูดคุยให้ยอมได้ง่าย ๆ ก็อาจจะต้องให้ทานยาเพื่อให้เคลิ้มหรือง่วงนอน เพื่อให้สามารถทำการตรวจได้ง่ายขึ้น
แต่อย่างไรก็ตามแพทย์จะไม่สามารถใช้ยานอนหลับกับเด็กได้ เพราะยานอนหลับจะมีฤทธิ์ทำให้การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองไม่ได้ผล จุดนี้เองจึงทำให้การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองในเด็กนั้นต้องอาศัยบุคคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการรักษาและรับมือกับผู้ป่วยเด็กโดยเฉพาะ
ข้อห้าม-ข้อดี ของการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้
แม้การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองในเด็กจะไม่มีอันตราย ไม่มีภาวะแทรกซ้อน แต่ก็มีข้อห้ามข้อควรระวังอยู่เช่นกัน ซึ่งเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่เห็นภาพรวมที่ชัดเจนของการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองมากขึ้น เราจึงสรุปข้อดีและข้อควรระวังในการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองให้เข้าใจกันง่าย ๆ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
ข้อดีของการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง
- นำมาซึ่งข้อมูลที่มีส่วนช่วยในการประกอบการรักษา
- ทำให้ทราบแน่ชัดว่าคนไข้ควรต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมในส่วนใดบ้าง
- ช่วยในการติดตามผลการรักษาว่าหลังรักษาแล้วมีแนวโน้มเป็นอย่างไร จำเป็นจะต้องเปลี่ยนยาหรือไม่
- ช่วยในการยืนยันว่าเด็กป่วยเป็นโรคที่สงสัยจริงหรือไม่ เพื่อวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้องแม่นยำ
ข้อควรระวังในการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง
- ไม่ควรทำการตรวจในบริเวณที่มีบาดแผล เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อของหนังศีรษะจนเป็นอันตรายได้
- ไม่ควรทำในคนไข้รายที่ได้รับการผ่าตัดสมอง หรือผ่าตัดกะโหลก ที่ทำให้บางส่วนของศีรษะมีการบุบ ยุบหายไป หรือหากจำเป็นต้องทำ ก็ต้องทำด้วยความระมัดระวังและความเชี่ยวชาญเป็นอย่างยิ่ง
การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองนั้นเป็นการตรวจที่มีความจำเป็นอย่างมาก โดยจะช่วยให้การวินิจฉัยและการวางแผนการรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในกระบวนการของการตรวจนั้น ก็ไม่ได้ซับซ้อน ไม่มีความเสี่ยงใด ๆ ทั้งสิ้น คุณพ่อคุณแม่จึงวางใจได้ว่าลูกสามารถตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองได้โดยจะไม่มีอันตราย
แต่อย่างไรก็ตาม การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองก็ไม่สามารถบอกได้ทุกอย่าง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ประวัติการตรวจร่างกาย และประวัติอาการที่ละเอียดและชัดเจน ที่จะทำให้สามารถบอกได้ว่าลูกป่วยเป็นอะไรกันแน่
ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรดูแลและหมั่นสังเกตอาการความผิดปกติของลูกน้อยอย่างใกล้ชิดเสมอ เพื่อให้สามารถถ่ายทอดประวัติอาการให้กับแพทย์ได้อย่างครบถ้วน ถูกต้อง อันนำไปสู่การวินิจฉัยและการรักษาที่แม่นยำที่สุด