การทำบอลลูนใส่ขดลวดหัวใจนั้น เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งเมื่อทำบอลลูนใส่ขดลวดไปแล้ว การประเมินการรักษาด้วยตาเปล่าผ่านภาพเอ็กซเรย์นั้น ไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่า “ขดลวดแนบสนิททับดีกับเส้นเลือดแล้วหรือยัง?”
ซึ่งหากการใส่ขดลวดนั้นไม่เรียบร้อยสมบูรณ์ดี ก็จะทำให้มีความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อน หรือการตีบแบบเฉียบพลันได้ภายหลัง ซึ่งเป็นอันตรายได้ ทั้งนี้ เครื่องมือที่จะมาช่วยให้แพทย์ตรวจสอบความเรียบร้อยของการทำบอลลูนใส่ขดลวดได้อย่างชัดเจนนั้น มีชื่อเรียกว่า IVUS
IVUS คืออะไร ทำไมถึงจำเป็นกับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ?
“IVUS” หรือ “Intravascular Ultrasound” เป็นเครื่องอัลตราซาวด์ที่ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นโครงสร้างทางกายวิภาคของหลอดเลือดหัวใจได้แบบ 360 องศา ทำให้แพทย์สามารถประเมินได้ว่า เมื่อทำการรักษาด้วยการทำบอลลูนใส่ขดลวดหัวใจให้ผู้ป่วยแล้ว ขดลวดที่ใส่เข้าไปนั้นแนบสนิทกับเส้นเลือดดีแล้วหรือไม่ โดยหากอัลตราซาวด์แล้วพบว่า ยังเห็นช่องว่างที่เลือดวิ่งผ่านได้ระหว่างขดลวดกับเส้นเลือดหัวใจอยู่ แสดงว่าขดลวดที่ใส่เข้าไปนั้นยังไม่แนบสนิทดี ซึ่งถ้าปล่อยไว้จะทำให้มีโอกาสหลอดเลือดตีบซ้ำสูงขึ้น
การใช้ IVUS จะทำให้เราสามารถแก้ไขได้ข้อผิดพลาดแหล่านี้ได้ ด้วยการเอาบอลลูนเข้าไปขยายเพิ่มเพื่อให้ขดลวดแนบสนิทติดกันกับหลอดเลือดหัวใจ ทำให้การทำบอลลูนใส่ขดลวดนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้
เจ็บป่วยมากแค่ไหน ถึงควรทำบอลลูนใส่ขดลวดหัวใจ?
ในการจะพิจารณาว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบรายใด ควรได้รับการรักษาด้วยการทำบอลลูนใส่ขดลวดหัวใจนั้น แพทย์จำเป็นต้องพิจารณาจากหลาย ๆ ปัจจัยประกอบกัน ส่วนหนึ่งต้องพิจารณาจากการทำ FFR หรือ การตรวจค่าความตีบของหลอดเลือดหัวใจ ว่าตีบมากพอที่สมควรจะต้องทำบอลลูนใส่ขดลวดหัวใจหรือไม่ ซึ่งถ้าตีบเพียงเล็กน้อย การพิจารณารักษาด้วยการให้ยา จะมีประสิทธิภาพมากกว่าและเสี่ยงน้อยกว่า แต่ในรายที่ตรวจพบว่าหลอดเลือดหัวใจตีบมาก การรักษาด้วยยาไม่เป็นผล การทำบอลลูนใส่ขดลวดหัวใจก็จะตอบโจทย์และคุ้มค่ามากกว่า
แต่ทั้งนี้ แพทย์ก็จำเป็นต้องพิจารณาอีกด้วยว่า “จำนวนของหลอดเลือดที่ตีบ” นั้น มีกี่เส้น โดยถ้ามีการตีบหลายเส้น และต้องใส่ขดลวดหลายเส้น ก็มีแนวโน้มว่าจะพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดบายพาสมากกว่า เพราะหากแก้ไขด้วยวิธีการทำบอลลูนใส่ขดลวดหัวใจหลายเส้น ก็อาจมีโอกาสที่ขดลวดจะตีบซ้ำสูงขึ้น หรือในผู้ป่วยบางรายซึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดเล็กมาก ๆ ก็ไม่สามารถทำบอลลูนหรือผ่าตัดได้ แพทย์ก็จะพิจารณารักษาด้วยการใช้ยาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ดูแลตัวเองอย่างไร หลังเข้ารับการทำบอลลูนใส่ขดลวดหัวใจ?
ก่อนอื่นผู้ป่วยจำเป็นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า แม้ว่าเราจะทำบอลลูนใส่ขดลวดหัวใจเข้าสู่ร่างกายแล้ว ก็ยังมีโอกาสที่หลอดเลือดเราจะตีบได้อยู่อีก เพราะตามธรรมชาติของเส้นเลือดเรา จะค่อย ๆ เสื่อมสภาพและตีบไปเรื่อย ๆ ไม่คงสภาพอยู่ถาวร เช่นเดียวกันกับขดลวดที่อยู่ในเส้นเลือดหัวใจ ที่ก็จะทำให้เกิดการตีบได้อยู่ตามกาลเวลา
ดังนั้น หลังจากเข้ารับการทำบอลลูนใส่ขดลวดหัวใจแล้ว ผู้ป่วยจึงจำเป็นจะต้องดูแลตัวเองด้วยการทานยาตามแพทย์สั่งสม่ำเสมอ โดยเฉพาะ “ยาต้านเกล็ดเลือด” ที่ส่งผลต่อการทำงานของขดลวดโดยตรง คนไข้ต้องมาพบแพทย์ตามนัด และควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่มีผลต่อการทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบอย่างมีวินัย อาทิ การควบคุมอาหาร ควบคุมเบาหวาน ไขมัน ความดันโลหิต งดบุหรี่ งดสุรา เป็นต้น เพื่อชะลอการตีบตันจากขดลวดให้ได้ยาวนานที่สุด และทำให้เรามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์มากที่สุด
การทำบอลลูนใส่ขดลวดหัวใจ เป็นการรักษาที่สามารถทำให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจกลับมามีชีวิตที่เป็นปกติได้อีกครั้ง แต่ทั้งนี้ ผู้ป่วยก็จำเป็นต้องดูแลร่างกายตัวเองให้ดีอยู่เสมอด้วย เพื่อลดโอกาสการตีบที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ ในขณะเดียวกันสำหรับคนปกติที่ยังไม่ป่วย ก็อย่าชะล่าใจ เพราะการตีบของหลอดเลือดหัวใจนั้นจะอาศัยระยะเวลาในการค่อย ๆ เกิดขึ้น ซึ่งทำให้เราอาจไม่รู้ตัว และได้รับอันตราย หากไม่ได้ควบคุมความเสี่ยงหรือดูแลตัวเองให้ดี ดังสุภาษิตจีนที่ว่า “หนึ่งโรคอายุยืน ไร้โรคอายุสั้น” ที่บางที คนที่ไม่มีอาการผิดปกติ ก็อาจทำให้ตัวเองเป็นอันตรายมากกว่า เพราะชะล่าใจไม่ดูแลตัวเอง ต่างจากคนที่เคยป่วยแล้ว ที่ตระหนักรู้ว่าต้องดูแลตัวเองให้ดีอยู่เสมอตลอดเวลา
นายแพทย์สมบูรณ์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ
โรงพยาบาลพญาไท 3