ในการตรวจสุขภาพประจำปีแต่ละครั้งนั้น นอกจากระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมัน คอเลสเตอรอล แล้ว “ยูริก” ถือได้ว่าเป็นอีกค่าหนึ่งที่เรามักจะได้ยินกันอยู่เสมอ ซึ่งคุณหมอก็มักจะแนะนำกับเราอยู่ตลอดว่า “อย่าปล่อยให้ ยูริก สูงเกินไป”
ทั้งนี้ เพื่อให้เราเข้าใจและมีแรงจูงใจในการปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอมากขึ้น วันนี้เราจึงจะพาไปทำความรู้จักกันว่า “ยูริก” คืออะไร? และการมีค่ายูริกที่สูงเกินไปนั้น จะส่งผลร้ายอย่างไรต่อร่างกายของเราบ้าง
ยูริกคืออะไร? อันตรายแค่ไหน เมื่อมีค่าสูงในร่างกาย
“ยูริก” หรือ “กรดยูริก” (Uric Acid) คือ สารประกอบเคมีชนิดหนึ่งซึ่งจัดว่าเป็นของเสียที่อยู่ในร่างกายคนเรา โดยเกิดขึ้นมาจากการรับประทานอาหารที่มีกรดอะมิโนที่ชื่อว่า “พิวรีน” (Purine) ซึ่งจะพบมากในอาหารกลุ่มจำพวกเครื่องใน อาหารทะเล เนื้อสัตว์ผ่านการแปรรูป อะไหล่สัตว์ปีกทั้งหลาย อาทิ ข้อ เท้า ซุปเปอร์ เล้ง เป็นต้น ตลอดจนผักบางชนิดที่มี “อ็อกซาเลต” (oxalate) สูง เช่น ผักยอดต่าง ๆ กะถิน ชะอม ฯลฯ โดยเมื่อร่างกายรับประทานอาหารและผักดังกล่าวมาก ๆ จะทำให้เกิดกลายเป็นผลึกแท่งยูริก ไปสะสมอยู่ตามข้อ ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบปวดบวมได้ และสุดท้ายก็จะทำให้กลายเป็นโรคเก๊าท์ในที่สุด
แต่ทั้งนี้ ยูริก ก็ไม่ได้ทำให้เราเป็นโรคเก๊าท์ได้เพียงอย่างเดียว แต่ยังทำให้มีโอกาสเป็นนิ่วตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ด้วย เช่น นิ่วในไต นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ รวมถึงผลจากการที่ยูริกทำให้เลือดหนืดนั้น จึงมีการศึกษาวิจัยพบว่าผู้ป่วยที่มีภาวะโรคหัวใจ มักมีค่ายูริกในเลือดสูง
ค่ายูริกเท่าไร จึงเรียกว่าสูงเกินไปไม่ปลอดภัยต่อร่างกาย?
การตรวจค่ายูริกในเลือดนั้น ถือได้ว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งในการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อดูว่าร่างกายของเรามียูริกสะสมอยู่มากเกินไปหรือเปล่า จะได้สามารถวางแผนรับมือกับโรคที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยค่ายูริกในร่างกายที่เหมาะสมนั้น ได้แก่
- เพศหญิง ไม่ควรเกิน 6.0 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
- เพศชาย ไม่ควรเกิน 7.2 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
โดยทั่วไปแล้วหากนอกเหนือจากการตรวจสุขภาพประจำปีแล้ว แพทย์มักจะสั่งให้ผู้ป่วยตรวจหาค่ายูริก โดยพิจารณาจากอาการแสดงที่เข้ามาพบแพทย์ อาทิ ผู้ป่วยมีอาการปวดตามข้อ ปวดกระดูกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ข้อมือ ข้อเท้า ข้อเข่า เป็นต้น โดยอาการจะเป็นการปวดแบบเหมือนมีเข็มจิ้มแทง บางรายอาจมีอาการบวมตามข้อร่วมด้วย ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของโรคเก๊าท์ นั่นเอง
ดูแลตัวเองอย่างไร ไม่ให้ค่ายูริกสูงเกินมาตรฐาน
สาเหตุหลัก ๆ ของการมีกรดยูริกสะสมอยู่ในร่างกายจนทำให้เพิ่มโอกาสในการเจ็บป่วยนั้น มาจากการรับประทานอาหารเป็นสำคัญ ดังนั้น หากเราต้องการดูแลร่างกายไม่ให้มีค่ายูริกสูงเกินไป หรือต้องการลดค่ายูริกลง เพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสป่วยเป็นโรคเก๊าท์ หรือโรคนิ่วชนิดต่าง ๆ แล้วล่ะก็ หนทางที่ดีที่สุด คือ การปรับเปลี่ยนและควบคุมพฤติกรรมการรับประทานอาหารให้ถูกต้องเหมาะสม โดยควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร ดังต่อไปนี้
- ลด เลี่ยง อาหารทะเลทุกชนิด
- ไม่ควรรับประทานอะไหล่สัตว์ปีกทั้งหลาย โดยเฉพาะเมนูเล้ง ซุปเปอร์ เป็นต้น
- เลือกรับประทานผักที่ไม่ใช่ผักยอด เพื่อลดการสะสมปริมาณอ็อกซาเลตในร่างกาย
ที่มีส่วนทำให้ยูริกสูงขึ้น - ไม่ควรรับประทานเครื่องในสัตว์เป็นประจำ ควรทานในปริมาณที่จำกัด
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ปลายทางของคนที่มีกรดยูริกสะสมในร่างกายสูงนั้น คือโรคเก๊าท์ และโรคนิ่ว ตลอดจนโรคไต ซึ่งเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง และทำให้ชีวิตต้องทนทุกข์ทรมานกับความเจ็บปวด ดังนั้น การควบคุม ดูแลตัวเองตั้งแต่วันนี้ เพื่อไม่ให้ร่างกายมีการสะสมของยูริกจนเกินมาตรฐาน จึงเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะสามารถทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ มีความสุขขึ้นได้ และไม่ต้องถูกโรคร้ายเล่นงานในอนาคต
แต่ทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้น ก็ต้องอยู่ที่มีวินัยในการควบคุมการรับประทานอาหารของเราเองล้วน ๆ เพราะยูริกมาพร้อมอาหาร ดังนั้น ถ้าเราห้ามใจไม่ได้ ตามใจปากมากเกินไป ก็ไม่มีทางปลอดภัย และห่างไกลจากโรคร้ายที่มาพร้อมกับกรดยูริกได้อย่างแน่นอน