ในยุคที่ผู้คนให้ความสำคัญกับสุขภาพกันอย่างแพร่หลาย เชื่อเหลือเกินว่า “ค่า BMI” น่าจะเป็นสิ่งคุ้นหูคุ้นชินกันอยู่บ่อย ๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีคนจำนวนอีกไม่น้อยเลยเช่นกัน ที่ยังไม่ทราบว่า BMI สำคัญกับสุขภาพอย่างไร หรือบางคนก็พอทราบบ้าง แต่ก็ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการควบคุม BMI มากเท่าที่ควร จนกลายเป็นเปิดโอกาสให้โรคร้ายเรียงรายเข้ามาหาได้อย่างไม่หยุดหย่อนในบั้นปลายชีวิต
หรือบางคนที่ปล่อยให้ BMI สูงเกินไปตั้งแต่ยังวัยรุ่น ก็อาจต้องวิ่งวุ่นเข้าออกโรงพยาบาลเป็นว่าเล่นก่อนวัยอันควรก็มี นั่นเองที่ทำให้วันนี้ เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ BMI กันให้มากขึ้น เพื่อวางแนวทางการมีสุขภาพร่างกายที่ดี ห่างไกลโรคภัยให้กับชีวิต
ค่า BMI คืออะไร เท่าไรถึงดี เท่าไรถึงเสี่ยง?
BMI : Body Mass Index หรือ ดัชนีมวลกาย คือ ค่าประมาณการปริมาณไขมันในร่างกายเบื้องต้น ซึ่งคำนวณได้จากส่วนสูงและน้ำหนัก ผ่านสูตร BMI = น้ำหนัก (กก.) หารด้วย ส่วนสูง2 (ม.) โดยตัวเลขที่ได้ออกมาจะบอกเราได้แบบคร่าว ๆ เบื้องต้นว่า เราอ้วนมากน้อยแค่ไหน? และมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคร้ายอย่างโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ความดันโลหิต ฯลฯ มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ ค่า BMI เฉลี่ยที่เหมาะสมตามมาตรฐาน ได้แก่
- น้อยกว่า 18.5 น้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน เสี่ยงสูญเสียมวลกระดูก โรคโลหิตจาง
- อยู่ระหว่าง 18.5-22.9 น้ำหนักปกติ ร่างกายสมส่วน
- อยู่ระหว่าง 23.0-24.9 น้ำหนักเกินมาตรฐาน
- อยู่ระหว่าง 25.0-29.9 อ้วน มีความเสี่ยงโรคความดัน เบาหวาน
- ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป เป็นโรคอ้วน เสี่ยงโรคอันตราย อาทิ โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง
ทั้งนี้หากเราไม่ได้ทำการคำนวณค่า BMI แต่อยากทราบว่าร่างกายของเรานั้น “อ้วนเกินไปไหม?” น้ำหนักเกินจนเสี่ยงที่จะทำให้มีโอกาสเป็นโรคร้ายได้หรือเปล่านั้น ก็สามารถทำได้โดยการ “วัดรอบพุง” ได้ ซึ่งสำหรับผู้ชาย หากวัดแล้วพบว่ารอบพุงเกิน 90 เซนติเมตรขึ้นไป และผู้หญิงรอบพุงเกิน 80 เซนติเมตรขึ้นไป ถือว่า BMI น่าจะเกิน และมีความเสี่ยงเป็นโรคร้ายแรงตามที่กล่าวมาได้
ตัวอย่างการคำนวณค่า BMI
ผู้ชายสูง 174 เซนติเมตร หนัก 77 กิโลกรัม BMI จะได้เท่ากับ 77 หารด้วย 1.74*1.74 = 25.4 ถือว่าเป็นโรคอ้วน และมีความเสี่ยงที่ร่างกายจะไม่แข็งแรง เกิดโรคร้ายแรงแทรกซ้อนได้
ดูแลตัวเองอย่างไร ให้ BMI ลด ปลดแอกตัวเองจากโอกาสป่วยโรคร้าย
ถึงแม้ค่า BMI จะเป็นเพียงการประเมินในเบื้องต้น ที่บางทีก็ต้องไปดูค่าอื่น ๆ ประกอบด้วย อาทิ ค่า HDL, LDL, ไตรกลีเซอไรด์ ตลอดจนระดับน้ำตาลในเลือด ฯลฯ จึงจะสามารถบอกได้ชัด ๆ ว่าเสี่ยงเป็นโรคร้ายมากน้อยแค่ไหน แต่เมื่อ BMI นั้น สัมพันธ์กับเรื่องของน้ำหนัก ความอ้วน ซึ่งก็เป็นผลมาจากการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม และเป็นสาเหตุเดียวกันกับการทำให้ค่าชี้วัดจากการตรวจสุขภาพอื่น ๆ สูงขึ้นด้วย
ดังนั้น ในภาพรวมแล้ว เมื่อพบ BMI เกิน 30 ขึ้นไป ก็จะถือว่ามีความเสี่ยงโรคร้ายในทันที และควรอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ ตลอดไปจนถึงควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการใช้ชีวิตโดยเร็ว เพื่อลดระดับค่า BMI ลงมา จะได้ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคน้อยลง ทั้งนี้ แนวทางในการดูแลตัวเอง เพื่อลดค่า BMI ได้แก่
- ไม่ตามใจปาก ทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่เหมาะสม เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
- งด ลด เลี่ยง อาหารหวาน หรือกลุ่มอาหารที่มีแป้ง และน้ำตาลมาก ๆ เพราะน้ำตาลคือตัวการสำคัญที่ทำให้ BMI สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
- หลีกเลี่ยงการอดอาหาร เพราะในระยะยาวแล้วมักจะทำให้เกิดการโยโย่ และกลับมาน้ำหนักเกินได้อยู่ดี โดยควรใช้วิธีการรับประทานอาหารเป็นมื้อในปริมาณที่พอเหมาะ และไม่ทานของจุกจิก นอกมื้อจะเห็นผลลัพธ์ที่ดีกว่าทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยเน้นไปที่แนวคาร์ดิโอ อาทิ วิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เป็นต้น โดยควรออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาทีขึ้นไป หรือครั้งละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์
การที่เราปล่อยให้ดัชนีมวลกาย หรือ BMI สูงขึ้นนั้น ถือเป็นการเปิดประตูนำพาตัวเองไปสู่ความเสี่ยงของโรคภัยไข้เจ็บจำนวนมาก ที่ยิ่งเราสะสมเอาไว้ในร่างกายมากเท่าไร บั้นปลายชีวิตเราก็จะยิ่งเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย และมีสุขภาพที่ทรุดโทรมมากเท่านั้น อีกทั้งเมื่อร่างกายมี BMI สูง ก็จะส่งผลทำให้เราอ้วน ทำให้บุคลิกไม่ดี ทำให้สูญเสียความมั่นใจในการดำเนินชีวิต อันจะส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจตามมาได้ด้วย
นั่นเองที่ทำให้เราเห็นว่า BMI นั้นมีอิทธิพลกับเราทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งหากเราไม่ต้องการที่จะใช้ชีวิตอยู่อย่างไม่มีความสุขแล้วล่ะก็ การดูแลตัวเอง ควบคุมการรับประทานอาหาร การออกกำลังกายอยู่เสมอ ตั้งแต่วันนี้ เดี๋ยวนี้ คือทางเลือกที่ดีที่สุด ที่จะนำพาเราก้าวไปสู่การมีรูปร่างที่สมส่วนและมีสุขภาพกายใจที่แข็งแรงได้อย่างที่ควรจะเป็น