อย่างที่ทราบกันดีว่า “รสเค็ม” และ “โซเดียม” คือหนึ่งในสาเหตุหลักสำคัญที่ทำให้คนเรามีโอกาสป่วยเป็น โรคไต ได้ จนเป็นที่มาของการรณรงค์ ไม่กินเค็ม ไม่เต็มเกลือ ไม่เติมน้ำปลาในอาหารกัน เพื่อให้สุขภาพนั้นห่างไกลจากภาวะโรคไตถามหา
แต่ทั้งนี้ในความเป็นจริงแล้ว แม้จะไม่กินเค็ม ไม่เติมเกลือ ไม่เติมน้ำปลาเวลาทานอาหาร เราทุกคนก็ยังมีโอกาสเสี่ยงเป็น โรคไต ได้อยู่ดี โดยจะมีสาเหตุเกิดจากอะไรได้บ้างนั้น ก็เป็นสิ่งที่ควรปรึกษาให้รู้และเข้าใจเอาไว้ เพื่อป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจาก โรคไต ให้ได้มากที่สุด
หลากหลายสาเหตุโรคไต ที่เป็นได้แม้ไม่ต้องกินเค็ม
ในทางการแพทย์นั้นมีปัจจัยมากมายหลายอย่างที่มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้ร่างกายคนเรามีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคไต ทั้งนี้ ปัจจัยที่พบได้บ่อยสำหรับสาเหตุที่ทำให้คนป่วยเป็นโรคไตนั้น ได้แก่
- เป็นแต่กำเนิด เป็นปัจจัยที่ร่างกายคนเราเกิดมาพร้อมกับไตที่ผิดปกติ ไม่สมบูรณ์ เช่น บางคนเกิดมาแล้วไตฝ่อ บางคนมีไตข้างเดียว หรือมีโครงสร้าง เซลล์ในไตที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งถือเป็นเรื่องของโชคชะตาที่ไม่สามารถป้องกันได้
- หลอดเลือดฝอยในไตอักเสบ ไม่จำเป็นต้องกินเค็มก็สามารถเกิดขึ้นได้ เมื่อร่างกายทำงานหนัก หรือใช้งานมากเกินไป เส้นเลือดฝอยในไตก็อาจอักเสบขึ้นมา และนำพาไปสู่การเป็นโรคไตอักเสบได้ในที่สุด
- ติดเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งไม่สัมพันธ์กันกับเรื่องของอาหารแต่อย่างใด และเมื่อเกิดการติดเชื้อขึ้นก็จะทำให้เกิดไตติดเชื้อ เป็นฝี หรือเป็นหนองในไตขึ้นได้
- มีความผิดปกติในระบบทางเดินปัสสาวะ อาทิ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นนิ่ว เป็นโรคต่อมลูกหมาก ซึ่งเมื่อเกิดการปัสสาวะติดขัดนานวันเข้า ก็อาจลุกลามไปสู่ไตและกลายเป็นโรคไตได้
- เนื้องอกในไต ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งเนื้อร้ายอย่างมะเร็ง หรือเนื้องอกธรรมดาทั่วไป ก็อาจเกิดขึ้นที่ไตได้โดยไม่เกี่ยวข้องกับอาหารและการรับประทานของที่มีรสเค็ม
ไม่กินเค็ม ลดแค่เกลือกับน้ำปลา
คำว่า “ไม่กินเค็ม” นั้น แท้จริงแล้วไม่ได้หมายความเพียงแค่ “การลดปริมาณเกลือและน้ำปลา” ในอาหารเท่านั้น เพราะในชีวิตประจำวันเรายังมีอาหารอีกหลายประเภทที่มี “ความเค็ม” และ “โซเดียม” ในตัว ซึ่งบางทีก็ไม่ได้ให้รสชาติเค็มเสมอไป ทำให้เมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว ก็จะไปเพิ่มปริมาณความเค็มในร่างกาย และทำให้ไตทำงานหนักจนเกิดเป็นความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตได้ในที่สุด ทั้งนี้ อาหารที่ควรงดหรือควบคุมปริมาณให้ดีเพื่อลดโอกาสในการเสี่ยงเป็นโรคไต ได้แก่
- น้ำจิ้ม น้ำราด ซอสทั้งหลาย มีส่วนผสมของเกลืออยู่ ทำให้ทุกครั้งที่เรานำอาหารจิ้มกับน้ำเหล่านี้ จึงเท่ากับเพิ่มปริมาณความเค็มในร่างกายขึ้นอีกเท่าหนึ่ง ยิ่งจิ้มเยอะ ราดเยอะ ก็ยิ่งได้รับความเค็มมากขึ้นเท่านั้น
- อาหารกระป๋อง อาหารหมักดอง เนื้อสัตว์แปรรูป อาทิ แฮม ไส้กรอก หมูหยอง หมูแผ่น ฯลฯ อาหารเหล่านี้ได้รับการปรุงรสโดยมีความเค็มอยู่แล้วในตัวเอง ซึ่งยิ่งเมื่อเรารับประทานคู่กับน้ำจิ้ม น้ำซอสเข้าไปอีก จึงยิ่งทำให้เพิ่มปริมาณความเค็มให้กับร่างกายมากขึ้น
- ขนมปัง แม้จะไม่ได้มีรสชาติเค็ม แต่หากเราสังเกตให้ดีในฉลากโภชนาการ จะพบว่าขนมปังนั้นเป็นอาหารที่มีโซเดียมสูง ทั้งนี้เพราะ ในขนมปังมีผงฟู และผงฟูคือเกลือชนิดหนึ่ง ดังนั้น การรับประทานขนมปังมาก ๆ รับประทานขนมปังแทนข้าว จะไม่เป็นผลดีต่อไต
- ขนมคบเคี้ยว ขนมอบกรอบ ถือเป็นหนึ่งในของทานเล่นที่ได้รับความนิยม หากแต่ 1 ถุงเล็ก ๆ ของขนมบางชนิดนั้นเต็มไปด้วยปริมาณโซเดียมที่มากกว่าอาหารทั้งมื้อด้วยซ้ำไป ดังนั้น การรับประทานขนมคบเคี้ยวนอกมื้ออาหารบ่อย ๆ จึงทำกับเป็นการทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อโรคไตมากขึ้น
ดูแลตัวเองอย่างไร ให้ห่างไกลจากโรคไตมากที่สุด
การควบคุมพฤติกรรมการกินให้ถูกต้อง การเลือกรับประทานอาหารอย่างเข้าใจ ว่าอาหารประเภทไหนเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโรคไตได้ เป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดที่จะช่วยให้เราห่างไกลจากโรคไตได้ ทั้งนี้ ปริมาณโซเดียมที่ร่างกายควรได้รับต่อวันนั้นอยู่ที่ 2,000 มิลลิกรัม ซึ่งโดยปกติแล้ว คนไทยเราก็จะได้รับปริมาณโซเดียมเกินกว่าที่มาตรฐานร่างกายต้องการอยู่แล้ว ด้วยเป็นเมืองที่อาหารอร่อย รสชาติจัดจ้าน และมีการปรุงรสค่อนข้างเยอะ ดังนั้น เราจึงควรควบคุมให้อยู่ในความพอดี คือ เกินได้บ้าง แต่ก็ใช่ว่าปล่อยเกินเลยโดยไม่ควบคุมอะไรเลย เพราะยิ่งปล่อยมากเท่าไร ไตก็ยิ่งทำงานหนักมากเท่านั้น
ทั้งนี้ นอกจากเรื่องของการดูแลเรื่องอาหารการกินแล้ว เราก็ควรจะต้องออกกำลังกาย ดูแลร่างกายตัวเองให้ดี ให้ห่างไกลจากโรคความดันสูง เบาหวาน ต้องดื่มน้ำเยอะ ๆ เพราะ ถ้าร่างกายแข็งแรง ไตก็จะแข็งแรงด้วย ในขณะเดียวกันไตจะขับของเสียออกทางปัสสาวะ ดังนั้นหากเราดื่มน้ำน้อย ก็จะทำให้ไตทำงานหนัก และขับของเสียออกมาได้ไม่ดี ทำให้เกิดเป็นของเสียตกค้างและมีผลต่อโอกาสเสี่ยงเป็นโรคไตได้ในที่สุดนั้นเอง
“ไม่ทานอาหารรสจัด ไม่เพิ่มน้ำจิ้มน้ำราด
ดื่มน้ำเปล่าสะอาดอย่างพอเพียง
คือพฤติกรรมการทานอาหาร
ที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไตที่ดีที่สุด”
แพทย์หญิง โชติมา พิเศษกุล
อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางโรคไต
โรงพญาบาลพญาไท 3