“ไขมัน” คือหนึ่งในสารอาหารจำเป็น 5 หมู่ที่เราท่องกันมาตั้งแต่เด็ก ๆ แต่แม้ไขมันจะเป็นสิ่งจำเป็นที่ร่างกายต้องการ ก็มีข้อจำกัดและข้อยกเว้นอยู่ว่า ต้องได้รับตัวที่มีประโยชน์และได้รับในปริมาณที่พอเหมาะด้วย
เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว “ไขมัน” จะกลายไปเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโรคร้ายภายหลังได้ อาทิ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเป็นอันตรายถึงขั้นทำให้พิการ อัมพฤกษ์ อัมพาต และเสียชีวิตได้ ดังนั้น เพื่อให้เราดูแลสุขภาพตัวเองให้ปลอดภัยจากโรคร้ายได้มากขึ้น การทำความรู้จักกับค่าไขมันชนิดต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราทุกคนควรรู้
4 ค่าไขมันที่ควรรู้จัก และแนวทางดูแลตัวเองสำหรับคนรักสุขภาพ
ในการไปเจาะเลือดตรวจสุขภาพแต่ละครั้งนั้น “ค่าไขมัน” คือสิ่งสำคัญที่สามารถบ่งบอกได้ว่าเรามีสุขภาพร่างกายดีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งแน่นอนว่าก็มีหลายค่าแตกต่างกันไป แต่ถ้าถามว่าเราควรสนใจและให้ความสำคัญกับค่าใดเป็นพิเศษล่ะก็ 4 ค่าต่อจากนี้ไป คือค่าไขมันในร่างกายที่เราทุกคนควรทำความรู้จัก และควบคุมให้มีอยู่ในร่างกายในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้ลดโอกาสความเสี่ยงในการเป็นโรคร้ายในอนาคต
1.ค่าไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides)
คือไขมันชนิดหนึ่ง ที่ร่างกายจะดูดซึมไปใช้สำหรับเป็นพลังงานและให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ทั้งนี้มักจะได้มาจากการย่อยอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตสูงเป็นหลัก โดยเรามักจะได้รับคำแนะนำจากแพทย์เสมอว่า ควรระวังอย่าให้ “ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงเกิน 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร”
แนวทางในการลดระดับค่าไตรกลีเซอไรด์ : ทำได้โดยการ “Low Carb Diet” หรือลดปริมาณอาหารกลุ่มจำพวกแป้ง น้ำตาล ตลอดจนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะไปบล็อกการดูดซึมไตรกลีเซอไรด์เอาไว้ ทำให้มีระดับที่สูงขึ้นนั่นเอง
2.ค่า HDL (High Density Lipoprotein)
โดยทั่วไปมักจะเรียกกันว่า “ไขมันดี” แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็น “ไลโปโปรตีน” ชนิดหนึ่ง ที่ทำหน้าที่ในการดักจับคอเลสเตอรอล เพื่อนำไปทำลายที่ตับและขับออกจากร่างกาย ดังนั้นการที่ร่างกายตรวจเลือดแล้วพบว่ามีค่า HDL ที่สูงนั้น จึงถือเป็นเรื่องดี
ทั้งนี้ “ค่า HDL ที่เหมาะสมที่ร่างกายควรมีนั้น ในผู้หญิงควรมีค่าตั้งแต่ 50 ขึ้นไป และในผู้ชาย ควรมีค่าตั้งแต่ 40 ขึ้นไป” หากตรวจสุขภาพพบว่ามีค่า HDL ต่ำกว่าที่กล่าว ถือว่ามีความเสี่ยงที่ร่างกายจะสุขภาพไม่แข็งแรง และมีโอกาสป่วย อาทิ โรคหลอดเลือดหัวใจ ได้มากขึ้น
แนวทางในการเพิ่มระดับค่า HDL : ทำได้โดยการออกกำลังกายแนวคาร์ดิโอ เพราะการออกกำลังกายจะไปช่วยกระตุ้นให้ตับสังเคราะห์ HDL ออกมามากขึ้น ทั้งนี้ การออกกำลังกายควรทำเป็นประจำทุกวัน หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ชั่วโมง ซึ่งการออกกำลังกายแนวคาร์ดิโอที่แนะนำ ก็เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิก เป็นต้น
3.ค่า LDL (Low Density Lipoprotein)
โดยทั่วไปมักเรียกกันว่า “ไขมันเลว” แต่ในความเป็นจริงแล้วคือ “ไลโปโปรตีน” ชนิดหนึ่งเช่นเดียวกับ HDL แต่ LDL นั้นเป็นตัวร้าย เพราะจะทำหน้าที่ลำเลียงคอเลสเตอรอลเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้หากมี LDL อยู่มาก ก็จะมีคอเลเสเตอรอลสะสมอยู่ในหลอดเลือดมาก จนอาจอุดตันและทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หลอดเลือดสมองตีบ แตก หรือตัน จนเป็นอันตรายได้ในที่สุด
ทั้งนี้ “ระดับ LDL หากตรวจสุขภาพพบว่ามีค่าตั้งแต่ 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป” ถือเป็นสัญญาณเตือนภัยแล้วว่า จำเป็นต้องรีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตทันที ไม่เช่นนั้นจะส่งผลเลวร้ายในอนาคต
แนวทางในการลดระดับค่า LDL : ทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ควรงด ลด เลี่ยง อาหารทอด อาหารไขมันสูง อาหารจำพวกฟาสต์ฟู้ดส์ทั้งหลาย รวมถึงจำเป็นต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอควบคู่กันไปด้วย
4.ค่าคอเรสเตอรอล (Cholesterol)
คือค่าไขมันชนิดหนึ่ง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วคำนวณมาจากไตรกลีเซอไรด์ HDL และ LDL ดังนั้น ในความเป็นจริงหากเราพบว่าค่า LDL และไตรกลีเซอไรด์ สูงเกณฑ์เกณฑ์ ก็ถือว่ามีความเสี่ยงที่ควรจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องสนใจค่าคอเรสเตอรอลอีก แต่อย่างไรก็ตามหากจะโฟกัสที่ค่า Total Cholesterol นั้น ก็ควรจะต้องอยู่ที่ “ต่ำกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร” ถึงจะถือว่าเหมาะสม
แนวทางในการลดระดับค่าคอเรสเตอรอล : ทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการประทานอาหารเช่นเดียวกันกับการลดระดับ LDL คือไม่ควรทานอาหารจำพวกไขมันสูง อาหารทอด ฟาสต์ฟู้ดส์ ควรทานผักผลไม้เยอะ ๆ ตลอดจนควรงดเหล้า บุหรี่ และออกกำลังกายเป็นประจำด้วย
การปล่อยให้ร่างกายมีไขมันในเลือดสูงนั้น ถือเป็นการใช้ชีวิตด้วยความประมาท ที่มีโอกาสทำให้เราป่วยเป็นโรคร้ายแรงได้ทั้งในเร็ววัน และในบั้นปลายชีวิต ทั้งนี้ การตรวจสุขภาพประจำปีถือเป็น “ใบเบิกทาง” ชั้นดี ที่จะบอกเราได้ว่า “ร่างกายของเราอยู่ในสภาพไหน?” และ “จำเป็นต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไร?” ซึ่งเมื่อไรก็ตามที่เราตรวจพบว่า ค่าไขมันในเลือดสูงเกินหรือต่ำกว่าเกณฑ์
สิ่งที่เราต้องทำก็คือ “Total Lifestyle Modification” หรือ “ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต” เพื่อต้านความเสี่ยงโรคเรื้อรังอันตราย อย่างโรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน ความดัน ซึ่งสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการ ไม่ตามใจปาก กินอาหารที่มีประโยชน์ ลดแป้ง น้ำตาล อาหารไขมันสูง อาหารรสจัด ไม่ดื่ม ไม่สูบ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ เป็นต้น เพื่อให้การตรวจสุขภาพไม่ใช่เพียงแค่การไปตรวจตามสิทธิ์เฉย ๆ เท่านั้น แต่เป็นการตรวจเพื่อทำให้เรามีแนวทางปฏิบัติในการมีสุขภาพที่แข็งแรงปลอดภัยจากโรคร้ายได้จริง ๆ