คัดจมูก น้ำมูกไหล มีไข้ ร้อยทั้งร้อยส่วนใหญ่เมื่อเราพบว่าตัวเองมีอาการประมาณนี้เกิดขึ้น ก็มักจะลงความคิดเห็นเอาเองเลยว่า “เป็นหวัดแน่ ๆ ” ตามด้วยการไปซื้อยามาทานเอง แล้วก็อาจพบว่า ไม่หาย และไม่ดีขึ้นสักเท่าไร
ทั้งนี้ ทราบหรือไม่ครับว่า อาการผิดปกติของร่างกายที่คล้ายหวัดนั้น บางทีก็ไม่ใช่หวัดเสมอไป แต่อาจเป็น “ไซนัสอักแสบ” ที่รุนแรงกว่า และหากปล่อยให้เป็นเรื้อรังนาน ๆ อาจถึงขั้นตาบอดได้เลยทีเดียว ซึ่งเพื่อให้เราสังเกตอาการผิดปกติของร่างกายตัวเองได้ดีขึ้น วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกันว่า ไซนัสอักเสบ ต่างจากไข้หวัดธรรมดา ๆ อย่างไร
ทำความรู้จักไซนัส จะได้รู้ชัดว่าเราป่วยเป็นอะไรกันแน่?
“ไซนัส” แท้จริงแล้วคืออวัยวะหนึ่งใสร่ากายคนเรา โดยเป็น “โพรงอากาศในกระดูกใบหน้ารอบโพรงจมูก” ซึ่งมีด้วยกัน 4 ชิ้นด้วยกัน ได้แก่ Maxillary Sinus หรือไซนัสที่แก้ม Ethmoid Sinus หรือ ไซนัสที่หัวตา Frontal Sinus หรือไซนัสที่หน้าผาก และ Sphenoid Sinus หรือไซนัสที่ฐานสมองส่วนหลัง
ดังนั้น โรคไซนัสอักเสบ ไซนัสติดเชื้อ ที่เรียกกันสั้น ๆ ไซนัส ๆ นั้น หมายถึงการที่ โพรงอากาศในกระดูกรอบใบหน้าโพรงจมูกติดเชื้อนั่นเอง ซึ่งก็สามารถเกิดขึ้นได้กับไซนัสทั้ง 4 ตำแหน่ง
ไซนัสแตกต่างจากหวัดตรงไหน สังเกตอาการยังไงให้รู้?
สาเหตุของทั้งไซนัสอักเสบและไข้หวัด เกิดขึ้นจากการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัสได้เหมือนกัน แต่ไข้หวัดนั้น จะเป็นการติดเชื้อที่ “เยื่อบุโพรงจมูก” ส่วนไซนัสคือตัวเชื้อจะลุกลามมากไปกว่านั้น คือเป็นการติดเชื้อที่ “โพรงอากาศรอบกระดูกใบหน้าหรือว่าโพรงไซนัส” นั่นเอง ทั้งนี้อาการสังเกตของโรคไซนัสอักเสบ ได้แก่
- มีภาวะคัดจมูก น้ำมูกไหล มีไข้
- น้ำมูกเปลี่ยนสี เป็นสีเขียวหรือเหลือง ไม่ใช่น้ำมูกใส
- มีภาวะหายใจได้กลิ่นลดลง และอาจมีอาการปวดร่วมด้วย
- หายใจแล้วมีเสียงอู้อี้ขึ้นจมูกเยอะ ๆ
- อาจมีอาการไอ และเจ็บคอ
เมื่อพิจารณาอาการของโรคไซนัสอักเสบในภาพรวมแล้วจะพบว่ามีความคล้ายกันมากกับอาการของไข้หวัด ซึ่งถ้าจะถามถึงความแตกต่างว่าสังเกตอย่างไรถึงจะสันนิษฐานได้ว่าเป็นไซนัส ไม่ได้เป็นหวัดนั้น คำตอบก็คือ ถ้าหากมีอาการตามที่กล่าวมาร่วมกัน 3 อาการขึ้นไป และเป็นติดต่อกัน 3 วันแล้วไม่หาย หรือพบว่ามีอาการแย่ลง เช่น น้ำมูกข้นมากขึ้น คัดจมูกเพิ่มขึ้น ภายใน 5-7 วัน หรือถ้ารู้สึกว่าเป็นหวัดต่อเนื่องกัน 10 วันแล้วยังไม่หายล่ะก็ สามารถสันนิษฐานได้เลยว่า เราเป็นไซนัสอักเสบติดเชื่อ ไม่ได้เป็นหวัดธรรมดา และควรรีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
และข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ควรตระหนักไว้ก็คือ ไข้หวัดสามารถพัฒนากลายมาเป็นไซนัสได้ ถ้าหากรักษาไม่ถูกวิธี โดยเชื้อจะลุกลามจากโพรงจมูก เข้ามาที่โพรงไซนัส และทำให้เราป่วยเป็นไซนัสอักเสบในที่สุด นั่นเองจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม ถึงแม้เป็นหวัดก็ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง แต่ควรปรึกษาแพทย์ ให้แพทย์ตรวจให้ละเอียดและจ่ายยารักษาให้ถูกต้องเหมาะสม โรคจะได้ไม่ลุกลามจนเป็นอันตรายมากขึ้น
มีวิธีการรักษาอย่างไร เมื่อป่วยเป็นไซนัสอักเสบ?
โดยปกติแล้ววิธีการรักษาไซนัสอักเสบนั้น สามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับการพิจารณาความเหมาะสมกับความรุนแรงของอาการคนไข้แต่ละราย แต่โดยทั่วไปจะรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อเป็นเวลา 7 วัน ร่วมกับการให้ยาลดน้ำมูกหรือยาแก้แพ้ ก็สามารถทำให้หายเป็นปกติได้
แต่ในกรณีที่คนไข้มีประวัติเป็นภูมิแพ้ด้วย แพทย์ก็จะพิจารณาให้ใช้ยาสเปรย์พ่นชนิดสเตรอยด์ ที่ช่วยในการลดการอักเสบลดบวมได้อย่างรวดเร็วควบคู่กันไปกับการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ ซึ่งแพทย์จะสอนให้คนไข้ล้างให้เป็น และกลับไปล้างอย่างสม่ำเสมอที่บ้าน โดยมีขั้นตอนในการล้างจมูก ดังต่อไปนี้
- ก้มหน้าประมาณ 45 องศา หน้าอ่างล้างหน้า
- นำขวดน้ำเกลือใส่เข้าไปในจมูกตรง ๆ
- กลั้นหายใจ แล้วบีบขวดน้ำเกลือ ให้น้ำเกลือใหลไปตามจมูก
- ถ้าหากล้างได้อย่างถูกต้อง น้ำเกลือจะไหลมายังจมูกอีกข้างหนึ่ง หรือไหลออกทางปากพร้อมกับน้ำมูก
- ใน 1 วันจะล้างประมาณ 2 ครั้ง เช้าและเย็น โดยปริมาณน้ำเกลือต่อครั้งจะขึ้นอยู่กับน้ำมูกที่ค้างอยู่
อย่างไรก็ตาม สำหรับคนไข้ที่อาการหนักมาก ๆ และทำการรักษาด้วยวิธีให้ยาเต็มที่แล้วแต่ก็ยังไม่ดีขึ้น แพทย์จะพิจารณาให้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อแก้ไขกันอุดตันของรูระบายไซนัส ให้กลับมาทำงานได้อย่างเป็นปกติ ซึ่งก็จะทำให้หายขาดได้ แต่ไซนัสอักเสบเองก็เหมือนกับไข้หวัด คือสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ถ้าหากดูแลตัวเองไม่ดีพอ
อันตรายรุนแรงแค่ไหน เมื่อป่วยเป็นไซนัสอักเสบ?
ไซนัสอักเสบนั้น ถือว่าเป็นโรคที่มีความอันตรายและรุนแรงมากในระดับหนึ่งเลยทีเดียว โดยเฉพาะยิ่งถ้าหากเราปล่อยทิ้งเอาไว้เป็นระยะเวลานาน ปล่อยให้เป็นเรื้อรัง และสำหรับ Ethmoid Sinus หรือ ไซนัสที่หัวตา ถือเป็นตำแหน่งที่รุนแรงมากกว่าทุกตำแหน่ง เพราะอาจลุกลามไปที่ดวงตา จนทำให้คนไข้ตาอักเสบ หนังตาบวม ติดเชื้อในดวงตา จนกระทั่งตาบอดได้ในที่สุด ดังนั้น เมื่อสังเกตพบเห็นอาการผิดปกติคล้ายหวัด แต่เป็นนานไม่หายภายใน 3 วัน ก็ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อความปลอดภัย
ดูแลตัวเองอย่างไร ให้ห่างไกลจากภัยไซนัส?
สำหรับวิธีการดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากโรคไซนัสนั้น ก็จะเป็นแนวทางเดียวกันกับการป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ คือ สวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องเดินทางไปยังในที่ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อทางการหายใจได้ง่าย ๆ อาทิ รถไฟฟ้า โรงภาพยนตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่เป็นภูมิแพ้อยู่แล้ว ยิ่งต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ นอกจากนั้นก็ควรล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ เวลาไอ จาม ให้ปิดปาก ควรรับประทานอาหารด้วยการใช้ช้อนกลาง และเวลามีสมาชิกในบ้านคนใดคนหนึ่งเป็นหวัด ควรให้นอนแยกห้อง เพราะหากนอนในห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศร่วมกัน จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อได้ง่ายมากขึ้น
ในกรณีที่เด็กเล็กในบ้านป่วยเป็นหวัด และไม่สะดวกใส่หน้ากากอนามัย คนอื่น ๆ ในบ้านก็สามารถใส่แทนได้เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจทำให้อาการแย่ลงได้ โดยหากเป็นหวัดหลายวันไม่หาย สงสัยว่าอาจเป็นไซนัสอักเสบควรรีบไปพบแพทย์ดีกว่า
ไซนัสอักเสบนั้นเป็นโรคที่คล้ายหวัด แต่รุนแรงกว่าหวัดมาก และเป็นโรคที่สามารถพัฒนาจากหวัดธรรมดา ๆ ได้ด้วย หากได้รับการรักษาดูแลที่ไม่ถูกวิธี ทั้งยังเป็นโรคที่สามารถติดต่อถึงกันได้อีก ดังนั้นแล้ว หากพบเห็นสังเกตอาการตัวเอง หรือคนใกล้ชิด มีความผิดปกติที่คล้ายกับจะเป็นหวัด แต่ไม่หายสักทีล่ะก็ อย่านิ่งนอนใจปล่อยเอาไว้ เพราะถ้าเกิดว่าเป็นไซนัสขึ้นมาเมื่อไร จะไม่มีทางหายได้เอง และมีแต่จะทำให้ยิ่งเจ็บป่วยรุนแรงเข้าไปอีก จนกลายเป็นทำให้คนใกล้ชิดที่เรารักเสี่ยงอันตรายป่วยกายป่วยใจตามไปด้วย