เกิดเป็นผู้หญิงนั้นแสนลำบาก ด้วยสรีระร่างกายที่ซับซ้อนและพิเศษกว่าผู้ชาย จึงทำให้ต้องดูแลร่างกายตัวเองอย่างพิถีพิถันมากกว่า ในขณะเดียวกันก็ต้องคอยระมัดระวังโรคภัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงได้มากกว่าโดยเฉพาะด้วย
ซึ่งนอกจากโรคร้ายแรงอย่างมะเร็งผู้หญิงที่มีเยอะชนิดกว่าผู้ชายแล้ว “นิ่วในถุงน้ำดี” คืออีกหนึ่งโรคที่เป็นภัยเงียบ แต่เป็นอันตรายได้ถึงชีวิต ที่พบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งเพื่อเป็นแนวทางในกันป้องกันตัวเองให้กับผู้หญิงวัยหลักสี่ทุกคน ให้ปลอดภัยจากโรคนิ่วในถุงน้ำดีให้มากที่สุดนั้น การทำความรู้จักกับโรคนิ่วในถุงน้ำดีเอาไว้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรเพิกเฉยเด็ดขาด
นิ่วในถุงน้ำดี โรคที่มาพร้อมกับการกินที่ไม่พิถีพิถัน
นิ่วในถุงน้ำดี คือ ตะกอนของของเสียที่ตกค้างสะสมจนเกิดเป็นก้อนนิ่วแข็งภายในถุงน้ำดี โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่ “นิ่วเม็ดสี” ซึ่งเป็นนิ่วที่เกิดจากการตกตะกอนของเมลานินในสีผิวของคนเราที่มีในน้ำดีอยู่แล้ว โดยสำหรับนิ่วประเภทนี้จะพบได้บ่อยในคนผิวสีแทน ผิวสีเหลือง มากกว่าในคนผิวขาว ส่วนนิ่วในถุงน้ำดีอีกชนิดหนึ่งนั้น ได้แก่ “นิ่วคอเลสเตอรอล” ซึ่งเกิดจากการตกตะกอนของไขมัน
ซึ่งปัจจุบันนิ่วคอเลสเตอรอลถือว่าเป็นนิ่วที่พบได้บ่อยมากที่สุด เนื่องจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารของคนเรา จะเน้นหนักไปทางการบริโภคไขมันกันมากขึ้น ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับไขมันในปริมาณมากก็จะมีโอกาสเกิดการตกตะกอนของสารแขวนลอย จนกลายเป็นหิน เป็นก้อนนิ่วแข็งไปในที่สุดนั่นเอง
นิ่วในถุงน้ำดี ถ้าสังเกตอาการไม่ดีอาจคิดว่าเป็นโรคกระเพาะ
นิ่วในถุงน้ำดี ถือว่าเป็นหนึ่งในโรคที่สังเกตอาการได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากมีทั้งแบบที่แสดงอาการ และไม่แสดงอาการให้เห็น โดยสำหรับในกรณีที่เป็นนิ่วในถุงน้ำดีแบบแสดงอาการนั้น จะมีอาการที่หลากหลาย แตกต่างกันไปตามความรุนแรง ดังต่อไปนี้
- มีอาการคล้ายโรคกระเพาะ คือ ปวด จุก เสียด แสบ แน่นท้อง ไม่เป็นเวลา เป็น ๆ หาย ๆ โดยไม่สัมพันธ์กับการรับประทานอาหาร ซึ่งถือเป็นสัญญาณเตือนเบื้องต้น ทั้งนี้ อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วยได้
- ในกรณีที่เกิดการอักเสบขึ้น เนื่องจากก้อนนิ่วไประคายเคืองถุงน้ำดี จะทำให้เกิดมีอาการเป็นไข้ และมีอาการปวดท้องร่วมด้วย
- ในกรณีที่นิ่วเลื่อนหลุดไปยังท่อน้ำดี อาจทำให้มีอาการ ตัวเหลือง ตาเหลือง เกิดการอุดตันที่ท่อน้ำดี จนทำให้มีอาการคล้ายกับการเป็นโรคดีซ่านได้
ความรุนแรงของโรคนิ่วในถุงน้ำดีนั้น อาจถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ หากเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ดังนั้น การหมั่นสังเกตอาการ และรีบเข้ารับการตรวจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเมื่อพบว่ามีอาการผิดปกติ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรตระหนักเอาไว้ และห้ามชะล่าใจโดยเด็ดขาด
คนกลุ่มไหน เสี่ยงเป็นโรคในถุงน้ำดีมากที่สุด?
โดยทั่วไปแล้วคนที่มีความเสี่ยงเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีนั้น คือ คนที่มีพฤติกรรมในการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม ชอบรับประทานอาหารประเภทของทอด ของมัน หรือฟาสต์ฟู้ดส์เป็นประจำ โดยไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย หากมีพฤติกรรมในการรับประทานอาหารแบบนี้ ก็จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีมากกว่าปกติ
แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนที่เสี่ยงเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีมากที่สุดนั้น คือ “ผู้หญิง อายุ 40 ปีขึ้นไป ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน” หรือ “Fat Female Forty” จะถือเป็นกลุ่มที่เสี่ยงโรคนิ่วในถุงน้ำดีมากที่สุด เนื่องจากระบบเผาผลาญของผู้หญิงกลุ่มนี้จะทำงานแย่ลง และยิ่งหากมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น ก็จะยิ่งเสี่ยงมากขึ้นอีก เพราะการไหลเวียนของระบบน้ำดีจะไม่ดี จึงทำให้มีโอกาสเกิดนิ่วได้มากขึ้น
วินิจฉัยและรักษาอย่างไร เมื่อเป็นนิ่วในถุงน้ำดี?
การวินิจฉัยโรคนิ่วในถุงน้ำดีนั้นจะเริ่มต้นจากการซักถามอาการ ตรวจสอบดูว่าเป็นโรคกระเพาะหรือไม่ด้วยการส่องกล้องกระเพาะอาหารเพื่อดูความผิดปกติ หลังจากนั้นจึงทำการอัลตราซาวด์เพื่อตรวจความผิดปกติของผนังถุงน้ำดี และตรวจดูว่ามีนิ่วหรือไม่ ซึ่งหากพบก้อนนิ่ว และพบว่าผนังถุงน้ำดีมีการหนาตัวขึ้น และคนไข้ปวดท้องเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ มาสักระยะ ก็จะต้องพิจารณาทำการรักษาต่อไป
โดยปัจจุบันการรักษานิ่วในถุงน้ำดีนั้น มีแนวทางที่เป็นมาตรฐานเดียวที่ใช้โดยทั่วกันเลยคือ “ต้องรักษาด้วยการตัดถุงน้ำดีออก” สาเหตุเนื่องจาก ถุงน้ำดีมีลักษณะบางคล้ายเยื่อกระดาษแผ่นหนึ่ง จึงทำให้การยิงเลเซอร์เพื่อสลายนิ่วอาจทำให้ถุงน้ำดีแตกและเป็นอันตรายได้ จึงทำให้ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดถุงน้ำดีออกสถานเดียว
แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะทำการผ่าตัดนำเอาถุงน้ำดีออกไปแล้ว ร่างกายเราก็ยังแข็งแรงเป็นปกติ ผลิตน้ำดีได้เป็นปกติ เนื่องจากถุงน้ำดีทำหน้าที่เพียงแค่เก็บน้ำดีเท่านั้น ซึ่งการไม่มีถุงน้ำดีจะทำให้ร่างกายเพียงแค่ไม่มีการเก็บน้ำดีไว้ใช้ในยามฉุกเฉินเท่านั้น ซึ่งก็ส่งผลเพียงทำให้เราอาจย่อยไขมันได้ช้ากว่าคนทั่วไปเล็กน้อย คืออาจรู้สึกจุก แน่น ได้ง่ายกว่าเดิม เมื่อรับประทานของมันของทอดมาก ๆ เท่านั้นเอง โดยหากเราลดของมันของทอดลง ก็จะไม่ส่งผลเสียใด ๆ ต่อร่างกายทั้งสิ้น
ดูแลตัวเองอย่างไร ให้ห่างไกลจากโรคนิ่วในถุงน้ำดี?
แนวทางในการดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคนิ่วในถุงน้ำดี และป้องกันอันตรายที่เกิดจากโรคนิ่วในถุงน้ำดีนั้น สามารถปฏิบัติได้ตามรายละเอียด ดังต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ดส์ และของมันของทอด เพื่อลดการสะสมไขมันในร่างกายที่อาจตกค้างสะสมจนกลายเป็นนิ่วในถุงน้ำดีได้
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ให้ร่างกายได้เผาผลาญไขมันอย่างเต็มที่ จะได้ลดโอกาสในการมีไขมันสะสมตกค้างจนกลายเป็นตะกอนนิ่วในถุงน้ำดี
- หลีกเลี่ยงการลดน้ำหนัก อดอาหาร แบบหักโหมเกินไป เพราะจะส่งผลต่อการทำงานของระบบน้ำดีในร่างกาย จนทำให้อาจเกิดการตกตะกอนกลายเป็นนิ่วในถุงน้ำดีได้
- เมื่อเกิดอาการปวดท้องผิดปกติเกิน 24 ชั่วโมง โดยทานยาแล้วยังไม่หาย หรือยังไม่ดีขี้น ควรรีบมาพบแพทย์โดยด่วน เพราะหากเป็นอาการปวดท้องจากนิ่วในถุงน้ำดีแล้วปล่อยทิ้งไว้จนเกิดการอักเสบติดเชื้อ จะมีอันตรายถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้
- ในการตรวจสุขภาพประจำปีแต่ละครั้ง ควรทำการอัลตราซาวด์ช่องท้องด้วย เพื่อตรวจดูว่ามีนิ่วเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะบ่อยครั้ง นิ่วในถุงน้ำดีก็เป็นโรคที่ไม่มีอาการแสดงออก ซึ่งหากเรารู้ก่อนว่ามีนิ่วเกิดขึ้น ก็จะได้วางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และทันท่วงที
นิ่วในถุงน้ำดี ถือเป็นภัยเงียบที่อยู่ใกล้ตัวเรา มีโอกาสเกิดมากน้อยได้ตามพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ซึ่งสำหรับผู้หญิงแล้ว จะถือว่ามีความเสี่ยงมากกว่าผู้ชายหลายเท่า ดังนั้น จึงควรหมั่นดูแลเรื่องการรับประทานอาหารตัวเองอยู่เสมอ และหมั่นสังเกตอาการตัวเองให้ดี
หากพบว่ามีอาการปวดท้อง จุก เสียด แน่นท้อง คล้ายกับเป็นโรคกระเพาะ ก็อย่าชะล่าใจ คิดว่าแค่ปวดท้องธรรมดา หรือเป็นแค่โรคกระเพาะแล้วไปซื้อยากินเองก็หาย แต่ควรมาตรวจให้แพทย์วินิจฉัยเพื่อให้สามารถรักษาได้อย่างถูกจุด เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายจากการติดเชื้อ