เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงเคยได้ยินชื่อ “โรคหัด” กันมาบ่อย ๆ โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ เนื่องจากว่า โรคหัด นั้นมักจะพบได้มากในเด็ก แต่ในขณะเดียวกันหลาย ๆ คนก็อาจสงสัยว่า แล้ว “โรคหัดเยอรมัน” นั้น แตกต่างจาก “โรคหัด” อย่างไร เพราะก็ถือว่าเป็นอีกชื่อโรคหนึ่งที่ได้ยินกันบ่อยไม่แพ้กัน ซึ่งเพื่อเป็นการคลายข้อสงสัย และเป็นการสร้างความเข้าใจในทั้ง 2 โรคนี้ อันนำไปสู่แนวทางในการดูแลป้องกันโรค วันนี้ทางโรงพยาบาลพญาไท 3 มีคำตอบมาฝากกัน
ความแตกต่างระหว่างโรคหัด Vs โรคหัดเยอรมัน
จริง ๆ แล้วทั้งโรคหัดและหัดเยอะมันนั้น ถือได้ว่าเป็นโรคติดต่อในตระกูลเดียวกัน คือ เป็นโรคที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุของการติดเชื้อไวรัส หากแต่เป็นไวรัสคนละตัว โดยโรคหัดนั้น เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Measles ส่วนโรคหัดเยอรมันนั้น เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Rubella
ซึ่งจากความแตกต่างของการติดเชื้อคนละตัวนี้เอง จึงทำให้ความรุนแรงของโรคทั้ง 2 นั้นต่างกัน โดยที่หัดเยอรมันนั้นจะมีความรุนแรงมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสหัดเยอรมัน อาจทำให้เด็กที่คลอดออกมามีความผิดปกติหรือพิการได้ตั้งแต่กำเนิดได้เลยทีเดียว ทั้งนี้ ในรายละเอียดของอาการ วิธีการรักษา รวมถึงแนวทางในการป้องกันของทั้ง 2 โรคนี้นั้น จะมีความคล้ายกันมาก เนื่องจากเป็นโรคในตระกูลเดียวกัน
สังเกตอาการอย่างไร ถึงจะแน่ใจว่าเป็นโรคหัด Vs โรคหัดเยอรมัน
ทั้งโรคหัดและโรคหัดเยอรมัน สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่โดยมากแล้วจะพบในเด็กได้มากกว่า โดยเราสามารถสังเกตอาการของโรคทั้ง 2 ได้ ดังต่อไปนี้
อาการแสดงของโรคหัด
- มีอาการคล้ายไข้หวัด คือ มีไข้น้ํามูกไหล ไอ
- บางรายมีอาการตาแดง ถ่ายเหลว
- มีจุดขาว เล็ก ๆ เกิดขึ้นที่กระพุ้งแก้ม หลังจากมีไข้ประมาณ 3 – 4 วัน
และจะเริ่มมีผื่นนูนแดงขึ้นที่ใบหน้า ขอบผม และตามลำตัว - เมื่อผื่นขึ้นประมาณ 1 – 2 วัน ไข้จะเริ่มลดลง ส่วนใหญ่ผื่นจะจางหายไปประมาณ 2 สัปดาห์
อาการแสดงของโรคหัดเยอรมัน
- มีอาการคล้ายหวัด มีน้ำมูก ไอ จาม มีไข้ประมาณ 37 – 38 องศาเซลเซียส
- ต่อมน้ำเหลืองโต โดยเฉพาะบริเวณคอ ท้ายทอย และหลังหู
- มีตุ่มนูน ผื่นแดงหรือสีชมพูขึ้นที่ใบหน้าก่อนจะลามลงมาตามผิวหนังส่วนอื่น ๆ เช่น แขน ขา และจะค่อย ๆ หายไปภายใน 3 วัน โดยผื่นมักมีลักษณะอยู่กระจายตัว ไม่กระจุกตัวเป็นกลุ่ม
จะเห็นได้ว่า อาการของทั้งโรคหัด และ หัดเยอรมันนั้นคล้ายกัน และสามารถหายไปเองได้ในที่สุด แต่ทั้งนี้ความรุนแรงของทั้ง 2 โรคอยู่ที่อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายร้ายแรงได้ โดยอาจทำให้เกิดปอดอักเสบ ข้ออักเสบ หูอักเสบ หรืออาจถึงไข้พัฒนาไปเป็นไข้สมองอักเสบได้
ซึ่งแม้จะพบไม่บ่อย แต่ก็มีอันตรายถึงขั้นอาจทำให้เสียชีวิต ทั้งนี้ จากรายงานของ U.S Center for Disease Control and Prevention พบว่า 1 ใน 20 ของเด็กที่ติดเชื้อหัด อาจมีอาการปอดอักเสบ และ 1 ใน 1000 ราย อาจมีอาการสมองอักเสบ
เมื่อเป็นโรคหัด VS หัดเยอรมัน มีขั้นตอนการรักษาอย่างไร?
เนื่องจากทั้ง 2 โรคเป็นโรคที่ยังไม่มีการรักษาแบบเฉพาะเจาะจง และยังเป็นโรคที่สามารถหายเองได้ จึงทำให้การรักษาโรคหัดและโรคหัดเยอรมัน จะเป็นไปในแนวทางของการรักษาตามอาการ เพื่อประคับประคองโรคให้หายไปเอง และไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอันตราย โดยหากผู้ป่วยมีไข้สูง แพทย์ก็จะให้รับประทานยาในกลุ่มยาแก้ปวดลดไข้ นอกจากนั้นแล้วก็จะดูแลใกล้ชิดด้วยการให้ดื่มน้ำมาก ๆ พักผ่อนให้เพียงพอ และที่สำคัญที่สุดเลยคือการกันผู้ป่วยออกจากการสัมผัสตัวผู้อื่น เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ
ป้องกันอย่างไร ให้ห่างไกลจากโรคหัด Vs หัดเยอรมัน
แม้ว่าโรคหัดและโรคหัดเยอรมัน จะเป็นโรคที่เมื่อเป็นแล้วสามารถหายเองได้ก็จริงอยู่ แต่หนทางที่ดีที่สุดคือการที่เราไม่ป่วยเป็นโรคทั้ง 2 นี้เลยจะดีกว่า ซึ่งนอกจากจะดีกับตัวเองแล้ว ก็ยังดีกับผู้อื่นด้วย เพราะถ้าเราไม่ป่วย ก็เท่ากับว่าเราจะไม่กลายเป็นพาหะ แพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่นและสังคม
ทั้งนี้ สำหรับแนวทางในการป้องกันให้เราและลูกน้อยห่างไกลจากโรคหัดและหัดเยอรมัน สามารถทำได้ด้วยการรับวัคซีน MMR หรือ Measles, Mumps and Rubella Vaccine ซึ่งสามารถป้องกันได้ทั้งโรคหัด หัดเยอรมัน และโรคคางทูม ซึ่งโดยมาตรฐานแล้ว จะฉีดกันตั้งแต่เข็มแรกตอนอายุ 9-12 เดือน และเข็มที่สอง ตอนอายุ 2 ขวบครึ่ง
และสำหรับผู้หญิงที่วางแผนในการมีบุตร ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันอย่างน้อย 1 เดือนก่อนการตั้งครรภ์ ซึ่งหากพลาดไปก็ควรมีการฉีดทดแทนหลังคลอด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคสำหรับการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป และหลีเลี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้กับทารกที่อยู่ในครรภ์
“หัด VS หัดเยอรมัน แม้จะหายเองได้
แต่ก็ควรป้องกันไม่ให้แพร่กระจาย
และดูแลใกล้ชิดเพื่อลดโอกาสแทรกซ้อนที่เหนือความคาดหมาย
ที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ในเด็กเล็ก”