“วัยทอง” ถ้อยคำแสลงใจที่ไม่มีผู้หญิงคนไหนอยากได้ยิน และถ้าเลือกได้ก็คงไม่มีใคร อยากให้ตัวเองมีวัยนี้ในชีวิตด้วย แต่เพราะไม่ว่ายังไงเราก็เลี่ยง วัยทอง ไม่ได้ ดังนั้น การทำความรู้จักกับ วัยทอง เอาไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อเตรียมตัวรับมือให้ดี จึงเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้ช่วงเวลาวัยทองของเรา เป็นช่วงเวลาที่มีความสุข และมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรงสมบูรณ์ให้ได้มากที่สุดนั่นเอง
ซึ่งสำหรับใครที่อยากทราบว่า วัยทองจริง ๆ นั้นคืออะไร มีความสำคัญกับชีวิตเรามากแค่ไหน และจะรับมือกับช่วงวัยทองได้อย่างไร ก็ติดตามกันได้เลยในบทความนี้
วัยทองคืออะไร? อายุเท่าไรจึงถึงช่วงวัยทอง?
วัยทอง คือ ช่วงวัยที่ร่างกายคนเรามีภาวะฮอร์โมนเพศลดลง โดยเฉพาะผู้หญิงที่จะลดลงอย่างรวดเร็วมาก จึงทำให้มีอาการแสดงออกของวัยทองที่ค่อนข้างชัดเจนและรุนแรง ทั้งนี้ วัยทองสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งกับผู้หญิงและผู้ชาย ซึ่งสำหรับผู้หญิงนั้นจะเป็นช่วงเวลาหลังจากหมดประจำเดือนไปแล้วประมาณ 1 ปี ถ้านับตามค่าเฉลี่ยอายุแล้วก็จะอยู่ที่ราว ๆ ตอนอายุ 50 ปีเป็นต้นไป
ส่วนในผู้ชาย วัยทองจะอยู่ในช่วงอายุตั้งแต่ 53 ปีขึ้นไป ซึ่งที่เริ่มช้ากว่าผู้หญิง ก็เพราะการลดลงของฮอร์โมนเพศในผู้ชายนั้น จะเป็นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งก็ส่งผลทำให้จะไม่มีอาการแสดงที่ชัดเจนและรุนแรงเหมือนอย่างวัยทองในผู้หญิงนั่นเอง
อาการเป็นอย่างไร เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยทอง?
อาการแสดงของภาวะวัยทองนั้น เป็นอิทธิพลมาจากการลดลงอย่างรวดเร็วของฮอร์โมนเพศ ซึ่งผู้หญิงจะมีอาการแสดงที่เด่นชัดมากกว่าผู้ชาย โดยอาการในผู้หญิงที่เป็นสัญญาณบ่งบอกเราได้ว่าเป็นผลมาจากภาวะวัยทองนั้น ได้แก่
- รู้สึกร้อนวูบวาบ อยู่ดี ๆ ก็จะร้อนผ่าวขึ้นมาทั้งตัว โดยในทางการแพทย์จะเรียกอาการนี้ว่า “Vasomotor Symptom” ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นบริเวณกลางหน้าอก กลางหลัง และร้อนขึ้นมายังบริเวณใบหน้า อาจมีอาการเหงื่อออกร่วมด้วย แล้วสักพักก็หายไป โดยอาการร้อนวูบวาบนี้จะเป็นได้ทั้งในตอนกลางวันและกลางคืน
- ตื่นกลางดึกบ่อย ๆ ตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกร้อน ทั้ง ๆ ที่อาการไม่ร้อน นอนเปิดแอร์ แต่ก็จะรู้สึกร้อน เหงื่อออก ทำให้เกิดปัญหาการนอนไม่หลับ หลับไม่สนิทตลอดคืน ตามมา
- อารมรณ์แปรปรวนง่ายกว่าปกติ โดยอาจเป็นได้ทั้ง 2 รูปแบบเลยคือ หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย และซึมเศร้า เหงา เบื่อ รู้สึกชีวิตไม่มีความหมาย ไม่อยากออกไปพบปะพูดคุยกับใคร
- อาการอื่น ๆ จากผลของการที่ฮอร์โมนเพศลดลง ได้แก่ กระดูบางลง ผิวแห้งง่าย ผมร่วง ช่องคลอดแห้ง ทำให้เวลามีเพศสัมพันธ์แล้วจะรู้สึกเจ็บ หรือบางรายจะมีภาวะช่องคลอดแห้ง จนกระทั่งรู้สึก แสบ คัน ได้
รักษาอย่างไร เมื่อมีอาการวัยทองรุนแรง?
เนื่องจากวัยทองไม่ใช่โรคภัย แต่เป็นช่วงวัยที่ทุกคนต้องเจอ และอาการทั้งหมดเป็นผลมาจากภาวะร่างกายที่ฮอร์โมนเพศลดลง ดังนั้นในการรักษาอาการวัยทองจึงเป็นการ “รักษาตามอาการ” โดยหลัก ๆ จะสามารถแบ่งประเภทของการรักษาออกได้เป็น 2 รูปแบบ คือ “แบบใช้ฮอร์โมนรักษา” และ “แบบไม่ใช้ฮอร์โมนในการรักษา” โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
การรักษาอาการวัยทองโดยไม่ใช้ฮอร์โมน
ในขั้นแรกแพทย์จะใช้การพูดคุยแนวจิตบำบัด เข้าแก้ไขปัญหาให้กับคนไข้ก่อน ในรายที่มีอาการนอนไม่หลับ เพื่อให้คนไข้ได้ระบายความกังวลใจ หรือความเครียดจากภาวะอารมณ์แปรปรวน ภาวะนอนไม่หลับเนื่องจากวัยทอง ซึ่งหากยังไม่ได้ผล ก็จะพิจารณาใช้วิตามิน กรดอะมิโนเข้าช่วย เพื่อเสริมให้ร่างกายสามารถนอนหลับได้ดีขึ้น ใจเย็นขึ้น และไม่หงุดหงิดง่าย ในลำดับต่อมาสำหรับคนไข้ที่มีอาการร้อนวูบวาบ แพทย์จะเลือกพิจารณาใช้สมุนไพรที่ได้รับการวิจัยแล้วว่าสามารถช่วยบรรเทาอาการร้อนวูบวาบได้
ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นสมุนไพร แต่ก็ต้องเป็นการใช้ตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น เพราะมีผลกระทบต่อตับและระบบร่างกายในส่วนอื่น ๆ นอกจากนั้นแล้ว แพทย์ก็จะทำการแนะนำให้คนไข้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมควบคู่ไปด้วย เช่นการทำ Sleep Hygiene จัดสภาพแวดล้อมในการนอนให้ดี เตรียมตัวก่อนเข้านอนอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ด้วยการงดเล่นโทรศัพท์มือถือ งดทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การนอนบนเตียงนอน เป็นต้น เพื่อให้สามารถนอนหลับได้ดีขึ้น
การรักษาอาการวัยทองแบบใช้ฮอร์โมน
โดยทั่วไปแล้วแพทย์จะไม่เลือกใช้วิธีการรักษาด้วยการใช้ฮอร์โมน เนื่องจากการใช้ฮอร์โมนนั้นมีความเสี่ยงในการไปกระตุ้นเนื้องอก และการเกิดมะเร็งหลาย ๆ ชนิดในผู้หญิง รวมถึงยังเพิ่มโอกาสเสี่ยงทำให้เกิดเส้นเลือดอุดตันได้ง่ายมากขึ้นด้วย แต่ทั้งนี้ หากพบว่าคนไข้มีอาการวัยทองรุนแรง และรักษาด้วยวิธีการไม่ใช้ฮอร์โมนแล้วประมาณ 2-3 เดือน แต่ก็ยังไม่ได้ผล แพทย์จึงจะเลือกการใช้ฮอร์โมนเข้าช่วยเป็นทางเลือกสุดท้าย
แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนการใช้ฮอร์โมนก็ต้องทำการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ตรวจเนื้องอก อัลตร้าซาวด์ตรวจช่องท้อง รังไข่ ดูก่อนว่า มีความผิดปกติหรือไม่ โดยถ้าพบว่ามีความผิดปกติ หรือมีความเสี่ยง ก็จะไม่สามารถรักษาด้วยการใช้ฮอร์โมนได้ กล่าวคือต้องย้อนกลับไปทำการรักษาด้วยวิธีการไม่ใช้ฮอร์โมนตามเดิม
เตรียมตัวรับมืออย่างไรดี ก่อนที่จะถึงวัยทอง?
เนื่องจากช่วงวัยทอง เป็นช่วงวัยที่ฮอร์โมนเพศของเราจะลดลงอย่างมาก และทำให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพเหมือนเดิม อาทิ ระบบเผาผลาญพลังงานทำงานด้อยลง ทำให้เราอ้วนง่ายขึ้น ซึ่งก็จะเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น ดังนั้น ก่อนที่เราจะเข้าสู่ช่วงวัยทองของชีวิต การหาโอกาสเข้ามาพบแพทย์เพื่อพูดคุย ปรึกษา และทำความเข้าใจก่อนว่า ถ้าเข้าสู่ช่วงวัยทองแล้ว ร่างกายเราจะเป็นอย่างไรบ้าง มีอาการอย่างไรบ้าง และจะต้องดูแลตัวเองอย่างไร ให้สามารถผ่านช่วงวัยทองไปได้อย่างมีความสุขที่สุด จึงถือเป็นแนวทางที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม
โดยสำหรับผู้หญิงนั้น ในช่วงก่อนที่ประจำเดือนจะหมดถาวร หรือในช่วงที่ประจำเดือนมาแบบ 2-3 เดือนครั้ง มา ๆ หาย ๆ ตอนอายุ 40 ปีปลาย ๆ นั้น ถือเป็นสัญญาณเตือนให้เรารับรู้ได้แล้วว่า ในอีกไม่ช้าเราก็จะเดินหน้าเข้าสู่วัยทองอย่างเต็มตัว ดังนั้นช่วงนี้จึงเหมาะอย่างยิ่งกับการเข้ามาปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อเตรียมความพร้อม เตรียมความรู้ และเตรียมฟิตร่างกายให้แข็งแรง สมบูรณ์เต็มที่ที่สุด เพื่อให้เมื่อถึงเวลาวัยทองจริง ๆ แล้ว ร่างกายที่ได้รับการเตรียมความพร้อมมาเป็นอย่างดี จะช่วยลดความรุนแรงของอาการวัยทองลงได้ ทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความสุขได้มากขึ้น
แม้เราทุกคนจะหลีกเลี่ยงวัยทองไม่ได้ แต่วัยทองก็จะไม่ได้จะอยู่กับเราตลอดไป แต่จะกินเวลาเพียงแค่ประมาณ 3-5 ปีเท่านั้น ดังนั้น หากเราสามารถดูแลตัวเองได้ดี ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมแล้วล่ะก็ อาการวัยทองต่าง ๆ ที่คอยกวนใจเราก็จะค่อย ๆ หายไป ทั้งนี้การที่เรามีความรู้เกี่ยวกับเรื่องวัยทองเป็นอย่างดี และเตรียมพร้อมตัวเองอย่างดีก่อนเข้าสู่วัยทองนั้น ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ในช่วงเวลาวัยทอง ช่วงบั้นปลายสุดท้ายของชีวิตเรานั้น ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการวัยทองรุนแรง รวมถึงลดความเสี่ยงโรคแทรกซ้อนจากการดูแลตัวเองไม่ดีลงได้ด้วยนั่นเอง