บ่อยครั้งเวลาที่ไปตรวจสุขภาพประจำปี มีการเอ็กซเรย์ปอด แล้วผลเอ็กซเรย์ออกมาว่า “มีแผลในปอด” โดยส่วนมากแล้วคนไข้รวมถึงญาติพี่น้องมักจะวิตกกังวลว่า “จะต้องนำไปสู่โรคร้ายแรงแน่ ๆ ” ซึ่งในความเป็นจริงนั้นก็มีโอกาสเป็นไปได้ที่ “แผลในปอด” จากภาพเอ็กซเรย์จะนำไปสู่โรคร้าย
แต่ในขณะเดียวกันก็อาจไม่ได้เป็นโรคอะไรเลยก็ได้เช่นกัน ซึ่งเพื่อให้เราเตรียมตัวเตรียมใจและรับมือกับผลเอ็กซเรย์ได้ดีขึ้น วันนี้เราจะตามไปไขข้อสงสัยกันว่า แผลในปอดนั้น อันตรายหรือไม่อันตรายกันแน่
ภาพเอ็กซเรย์แผลในปอด ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย
อันดับแรกเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “ภาพที่ได้จากการเอ็กซเรย์” นั้น เป็นเพียงภาพแสดงผลอย่างคร่าว ๆ ที่ไม่ได้บ่งบอกถึงรายละเอียดแน่ชัดทั้งหมด เป็นเพียง “ภาพร่าง” ของสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในปอด โดยการที่เราเห็นภาพแผลในปอด เป็นจุด เป็นพังพืด หรือเป็นสิ่งแปลกปลอม บางทีสิ่งเหล่านั้นก็อาจเป็นภาพของลักษณะของเส้นเลือดที่ผิดปกติ กระดูกที่งอกผิดปกติ ติ่งเนื้อที่งอกผิดที่ ซึ่งไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคร้ายแต่อย่างใดเลยก็ได้
ดังนั้น เมื่อเห็นภาพเอ็กซเรย์ผิดปกติ จึงไม่ได้หมายความว่า จะเป็นโรคร้ายแรงเสมอไป แต่เราต้องนำภาพเอ็กซเรย์นั้นไปวินิจฉัยต่อ โดยในเบื้องต้น สามารถทำได้ด้วยการ เปรียบเทียบฟิล์มเอ็กซเรย์เก่ากับใหม่ ดูว่ามีการเปลี่ยนแปลงต่างไปจากเดิมหรือไม่ โดยถ้าของเก่าเคยเป็นแผล เป็นจุด เป็นความผิดปกติเดิมอยู่แล้ว จากการเป็นโรคปอดทั่วไป เอ็กซเรย์กี่ครั้งก็ยังเหมือนเดิม ก็เท่ากับว่าไม่มีความผิดปกติอะไร แต่ถ้าหากการเอ็กซเรย์ครั้งใหม่ มีสิ่งผิดปกติที่ฟิล์มเอ็กซเรย์เก่าไม่มีมาก่อน คืออยู่ดี ๆ ก็มีแผล มีจุด มีก้อนขึ้นมา ในลักษณะแบบนี้แสดงว่า มีความผิดปกติเกิดขึ้นจริง ซึ่งจะนำไปสู่โรคอะไรนั้น ก็ต้องวินิจฉัยต่อไป
เป็นโรคอะไรได้บ้าง เมื่อเอ็กซเรย์พบแผลในปอด?
สำหรับ “แผลในปอดนั้น” โดยทั่วไปแล้วถ้าหากเป็นความผิดปกติที่เกิดจากโรค ไม่ใช่เป็นความผิดปกติจากสรีระ ความรุนแรงของขนาดและรูปร่างของแผล หรือความผิดปกติในปอดที่เห็นจากภาพเอ็กซเรย์ เช่น เป็นจุด เป็นก้อน เป็นเส้น หรือเป็นฝ้า เป็นปื้น มีขนาดเล็กหรือใหญ่มากน้อยแค่ไหน
ซึ่งในกรณีที่ไม่เป็นอันตรายก็อาจเป็นเพียงแค่พังพืดเล็ก ๆ เป็นจุดหินปูนเก่า เป็นร่องรอยแผลเก่าที่เคยเป็นมาก่อน หรือในกรณีรุนแรงเลวร้ายที่สุดก็อาจเป็นเนื้อร้ายเป็นมะเร็งปอดก็ได้ ทั้งนี้ หากจำแนกความผิดปกติของภาพเอ็กซเรย์แผลในปอดแล้ว อาจนำไปสู่โรคต่าง ๆ ได้ ดังต่อไปนี้
1.พังพืด
พังพืดพบได้บ่อยที่สุด เกิดจากเคยมีการอักเสบหรือติดเชื้อในปอดมาก่อน พอหายแล้วก็เหลือเป็นแผลเป็นอยู่ในปอด เอ็กซเรย์เมื่อไรก็จะพบเป็นแผลในปอดไปตลอดชีวิต ซึ่งถ้าเป็นพังพืดเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด
2.วัณโรค
วัณโรค พบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 รองลงมาจากพังพืด เนื่องจากเป็นโรคที่พบได้มากในบ้านเรา เป็นโรคร้าย แพร่ระบาดได้ แต่ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการรับประทานยา
3.มะเร็ง
มะเร็ง ถือเป็นโรคอันตรายร้ายแรงที่สุด ของการตรวจเอ็กซเรย์พบแผลในปอด ซึ่งจะพบได้มากในคนไข้ที่สูบบุหรี่ หรือสูงอายุมาก ๆ ทั้งนี้ในแนวทางของการวินิจฉัยโรค เมื่อเอ็กซเรย์พบแผลในปอดแล้วนั้น ถ้าเป็นน้อย พบแผลหรือจุดน้อย แพทย์ก็อาจพิจารณาติดตามการรักษา ด้วยการนัดเอ็กซเรย์ซ้ำ ทุก 3 เดือนหรือ 6 เดือน
แต่ถ้าหากผลเอ็กซเรย์ออกมาแล้วเห็นแล้วมีความผิดปกติมาก ก็จะพิจารณาตรวจต่อเนื่องด้วยเครื่องมือที่ละเอียดมากขึ้น เช่นการนำคนไข้เข้าทำ CT Scan เพื่อให้เห็นภาพละเอียดชัดเจนกว่าเดิมขึ้นจนเพียงพอวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคอะไร แล้วทำการวางแผนการรักษาตามแนวทางการรักษาที่เหมาะสมของแต่ละโรค
ดูแลตัวเองอย่างไร ให้ปลอดภัยจากอันตรายแผลในปอด?
ถึงแม้ว่า “แผลในปอด” จะไม่ได้หมายถึง “โรคร้ายแรง” เสมอไป แต่การที่มีแผลในปอดเกิดขึ้น ก็คือความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่โรคอันตรายได้ อีกทั้ง โรคปอดหลาย ๆ โรค ก็ไม่ได้มีอาการแสดงรุนแรงที่สังเกตเห็นได้ง่าย โดยคนไข้ส่วนใหญ่ที่ตรวจพบแผลในปอด ก็มักไม่ได้มีอาการอะไรเป็นสัญญาณมาก่อน จึงทำให้แนวทางที่ดีที่สุดของการป้องกันอันตรายโรคร้ายจากแผลในปอดก็คือ “การหมั่นตรวจสุขภาพปอดเป็นประจำทุกปี” โดยอย่างน้อยควรจะเอ็กซเรย์ปอดปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้เราทราบว่าในปอดของเรามีแผลหรือสิ่งผิดปกติอะไรที่นำไปสู่โรคร้ายแรงได้หรือไม่ จะได้ทำการแก้ไขรักษาได้ทันท่วงที
นอกเหนือไปจากนั้นแล้วสำหรับการดูแลสุขภาพปอดให้แข็งแรง ก็สามารถทำได้ด้วยการหลีกเลี่ยงมลภาวะ ใส่หน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นละออง ออกกำลังกายให้ปอดแข็งแรง และหมั่นพาตัวเองไปสูดอากาศบริสุทธิ์เสมอ ก็จะช่วยให้สุขภาพปอดเราแข็งแรงและมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงได้
“แผลในปอด อาจไม่ใช่โรคร้ายเสมอไป
ตรวจวินิจฉัยให้รู้เท่าทันอย่างเข้าใจ
เพื่อความสบายใจและป้องกันภัย
โรคระบบทางเดินหายใจร้ายแรง”
นายแพทย์วิชัย บุญสร้างสุข
อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินหายใจ
โรงพยาบาลพญาไท 3