บ่อยครั้งเหลือเกินที่เราเห็นข่าวคราวในหน้าหนังสือพิมพ์ เรื่องญาติผู้ป่วยไม่พอใจแพทย์ที่ทำ การเจาะคอ คนไข้ เพราะมีความรู้สึกว่า เป็นวิธีการที่อันตรายและน่าจะทำให้คนที่พวกเขารักตกอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงหนักกว่าเดิม
แต่ทั้งนี้ในความเป็นจริงแล้ว “การเจาะคอ” ถือเป็นหนึ่งในหัตถการสำคัญที่ทำเพื่อสำหรับช่วยชีวิตคนไข้ให้มีโอกาสรอดชีวิต ให้มีโอกาสปลอดภัยและฟื้นตัวกลับมาได้อย่างเป็นปกติที่สุดต่างหาก ซึ่งเพื่อเป็นข้อมูลให้ทุกคนเข้าใจหัตถการที่ดูน่ากลัวนี้มากขึ้น วันนี้เราจึงจะพาไปทำความรู้จักกับ การเจาะคอ กันว่าสำคัญกับคนไข้มากน้อยแค่ไหน
“เจาะคอ” คืออะไร ทำไมถึงจำเป็นต้องเจาะ?
การเจาะคอ คือการเปิดท่อทางเดินหายใจส่วนต้น ในคนไข้ที่มีภาวะทางเดินหายใจส่วนบนถูกปิดกั้น จนไม่สามารถที่จะใช้จมูกหรือปากในการหายใจได้ แพทย์จึงต้องทำการย้ายตำแหน่งของการหายใจมาเป็นบริเวณหลอดลม ตรงส่วนที่อยู่ใต้กล่องเสียงแทน
ซึ่งการเจาะคอนั้น จะช่วยทำให้ผู้ป่วยหายใจสะดวกขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่รอดต่อไปได้ การเจาะคอเป็นหัตถการที่เอื้อให้สามารถเคลียร์เสมหะคนไข้ได้สะดวก และยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดพังพืดที่กล่องเสียงได้มากกว่าการใช้เครื่องช่วยหายใจอีกด้วย
กรณีแบบไหน ถึงบ่งชี้ให้ต้องเจาะคอ?
การเจาะคอ จะทำในคนไข้ที่พบว่า ถูกก้อน หรือภาวะบางอย่างอุดกั้นทางเดินหายใจเอาไว้ จนคนไข้ไม่สามารถหายใจได้เอง ไม่ว่าจะเป็นแบบเฉียบพลันหรือว่าเรื้อรัง เช่นการมีเนื้องอก การกลืนบางอย่างติดคอ เป็นต้น รวมถึงทำในกรณีที่กล่องเสียงของคนไข้ไม่สามารถใช้งานได้ เช่นพบว่ามีเส้นเสียงเป็นอัมพาตทั้ง 2 ข้าง มีการติดเชื้ออย่างรุนแรงที่ทำให้กล่องเสียงเกิดอาการบวม หรือเกิดอุบัติเหตุจนกล่องเสียงมีห้อเลือด แตกหัก ฯลฯ ซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถเปิดทางเดินหายใจได้ จนคนไข้หายใจเองไม่ได้ จึงต้องทำการเจาะคอเพื่อที่จะช่วยให้คนไข้ให้ใจได้ และมีชีวิตอยู่ต่อไปได้
นอกจากนั้นแล้ว การเจาะคอก็มักได้รับการทำในคนไข้ติดเตียง ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจนาน ๆ เกินกว่า 1-2 สัปดาห์ขึ้นไป เพราะการใส่ท่อช่วยหายใจนานเกินไปนั้นจะส่งผลทำให้เกิดภาวะพังพืดที่กล่องเสียง หรือ พังพืดใต้เส้นเสียง ที่จะส่งผลทำให้คนไข้หายใจได้ลำบาก หลังจากรักษาตัวหายแล้ว เพราะพังพืดไปอุดกั้นทำให้หายใจไม่สะดวกนั่นเอง
“การเจาะคอ” ดีกว่า “การใส่ท่อช่วยหายใจ” อย่างไร?
โดยทั่วไปแล้วแพทย์จะพิจารณาการเจาะคอในกรณีที่ฉุกเฉินและจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น รวมถึงมักทำในคนไข้ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจนานเกินกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป ทั้งนี้ ในภาพรวมของการเจาะคอที่ส่งผลดีต่อคนไข้มากกว่าการใส่ท่อช่วยให้ใจนั้น มีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
- การเจาะคอทำให้สามารถเคลียร์เสมหะได้ดีกว่าการใส่ท่อช่วยหายใจ ทำให้ช่วยลดการติดเชื้อได้มากกว่า
- การเจาะคอทำให้ไม่เกิดภาวะพังพืดใต้เส้นเสียง ทำให้เมื่อคนไข้หายดี จะกลับมาหายใจได้เต็มที่มากกว่า
- การเจาะคอสร้างความกระทบกระเทือนต่ออวัยวะในร่างกายน้อยกว่าการใส่ท่อช่วยหายใจทางปาก เพราะทำให้ระยะทางในการใส่ท่อช่วยหายใจนั้นสั้นลง ไม่ต้องผ่านอวัยวะในช่องปาก ลำคอ กล่องเสียง
- การเจาะคอใส่ท่อช่วยหายใจจะดูแลได้ง่ายกว่า และเสี่ยงอันตรายจากการเลื่อนหลุดน้อยกว่า เนื่องจากตรงคอ จะมีเป็นสร้อยรัดกับคอไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้ท่อหลุด คนไข้ขยับไปไหน ท่อก็จะติดไปกับคอคนไข้ด้วย กลับกันถ้าเป็นการใส่ท่อช่วยหายใจทางปาก จะต้องเอาเทปหรือเชือกผูกเอาไว้ ซึ่งหลุดได้ง่ายกว่า เกิดอันตรายได้ง่ายกว่า
การเจาะคอคือการช่วยชีวิต ไม่ใช่คิดจะเจาะก็เจาะ
การเจาะคอเป็นหัตถการที่ต้องทำในห้องผ่าตัด ต้องมีการดมยาสลบ และต้องลงมีดจนมีแผลเกิดขึ้น ดังนั้น ญาติจึงจำเป็นต้องรับรู้ และให้ความยินยอม หรือในกรณีที่คนไข้รู้สติ ก็ต้องได้รับความยินยอมจากคนไข้ก่อนจึงจะสามารถเจาะคอได้ แต่ก็มีข้อยกเว้นอยู่เช่นกัน คือในกรณีฉุกเฉินมาก ๆ เช่นการเกิดอุบัติเหตุ ที่ไม่สามารถใส่ท่อช่วยหายใจทางปากได้ หรือในกรณีคนไข้เป็นมะเร็งเนื้องอกที่กล่องเสียง รวมถึงอาการเจ็บป่วยทุกกรณีที่ทำให้คนไข้ให้หายใจเองไม่ได้ และไม่สามารถใส่ท่อช่วยหายใจทางปากได้
ทั้งหมดจำเป็นต้องทำการเจาะคอ เพื่อช่วยชีวิตตคนไข้ เพื่อให้สามารถทำการรักษาคนไข้ได้ทั้งสิ้น นั่นหมายความว่า กว่าที่แพทย์จะพิจารณาเจาะคอคนไข้แต่ละรายนั้น ได้ผ่านกระบวนการไตร่ตรองความจำเป็น และลำดับความสำคัญมาอย่างดีแล้วว่า จำเป็นจะต้องเจาะคอคนไข้ ไม่เช่นนั้นแล้วอาจเป็นอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ในคนไข้ที่ได้รับการเจาะคอ?
เนื่องจากการเจาะคอถือเป็นการผ่าตัดชนิดหนึ่ง จึงทำให้แน่นอนว่า อาจมีความเสี่ยงอื่น ๆ เกิดขึ้นได้ โดยมีโอกาสเกิดภาวะเลือดออก เนื่องมากจากบริเวณคอที่จะต้องทำการเจาะนั้นอยู่ตรงหลอดลมใต้กล่องเสียง ที่มีลักษณะเป็นวงแหวนกระดูกอ่อนในตำแหน่งวงแหวนที่ 2 และ 3 ซึ่งในตำแหน่งดังกล่าวจะมีต่อมไทรอยด์ 2 ข้างและมีหลอดเลือดแดงใหญ่บังอยู่ ทำให้แพทย์ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและความระมัดระวังอย่างมากในการดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน
ดูแลอย่างไร หลังจากคนไข้ได้รับการเจาะคอเรียบร้อยแล้ว?
โดยปกติแล้วในช่วง 7 วันแรกหลังจากการเจาะคอ แพทย์จะทำการเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เพราะตรวจสอบให้แผลทุกอย่างหายดี โดย 7 วันหลังการเจาะคอ เป็นช่วงเวลาที่เสี่ยงต่อการที่ “ท่อจะหลุดได้ง่าย” ทั้งนี้ ยังต้องทำการดูแลความสะอาด และคอยดูดเสมหะ เพื่อป้องกันเลือดที่มาจากแผลตกค้างอยู่ในท่อด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อสังเกตอาการเรียบร้อยแล้ว คนไข้เจาะคอสามารถกลับบ้านได้ ทั้งนี้ โดยทั่วไปการเจาะคอจะทำเพื่อ “คนไข้ที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจในการดำรงชีวิตที่บ้าน” ด้วย เพราะการเจาะคอจะทำให้สามารถดูแลได้ง่ายกว่า และเสี่ยงอันตรายจากการเลื่อนหลุดได้มากกว่านั่นเอง การเจาะคอแม้จะดูเป็นหัตถการที่น่ากลัว จนญาติพี่น้องหรือคนใกล้ชิดคนไข้อาจรู้สึกไม่สบายใจและเป็นกังวล แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถือเป็น “ขั้นตอนสำคัญในการช่วยชีวิตคนไข้” ที่จะทำให้คนไข้สามารถหายใจได้ ทั้งยังเป็นหัตถการที่ปลอดภัย และเสี่ยงส่งผลกระทบไม่ดีต่อร่างกายน้อยกว่าด้วยสำหรับคนไข้ที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นเวลานาน ๆ
ดังนั้น จึงมั่นใจได้เลยว่า เมื่อแพทย์พิจารณาแล้วว่าคนไข้จำเป็นต้องเจาะคอ นั่นหมายความว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดแล้วสำหรับการช่วยชีวิต เพื่อให้คนที่เรารักมีโอกาสหายดีกลับมามีชีวิตที่มีความสุขกับเราได้อีกครั้ง