SEX สนุกแบบไม่คิด ระวังซิฟิลิสทำพิษถึงตาย!!

SEX สนุกแบบไม่คิด ระวังซิฟิลิสทำพิษถึงตาย!!

ช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านมานี้ เชื่อเหลือเกินว่า เราน่าจะได้ยินได้คุ้นหูกันอยู่บ้าง กับข่าวคราวการกลับมาระบาดอย่างหนักอีกครั้งของ ซิฟิลิส โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่แฝงตัวอยู่ในสังคมเรามาอย่างช้านาน อันเกิดจากการขาดความเข้าใจในโรค และความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ซึ่งการกลับมาอาละวาดครั้งนี้ของซิฟิลิสนั้น พบว่าเกิดขึ้นในหมู่กลุ่มเด็กวัยรุ่นเป็นส่วนใหญ่ จึงยิ่งทำให้การระบาดทวีความรุนแรงไปไกล เพราะเป็นกลุ่มช่วงวัยที่อยากรู้อยากลอง แต่กลับไม่เห็นความสำคัญของการป้องกัน ดังนั้น วันนี้เพื่อเป็นแนวทางในการควบคุมซิฟิลิสให้ทวีการระบาดลดน้อยลงผ่านการทำความเข้าใจโรค เราจะไปทำความรู้จักกับซิฟิลิสกันแบบจริง ๆ จัง ๆ ให้มากขึ้น

ทำความรู้จักซิฟิลิส โรคติดต่อยอดฮิตทางเพศสัมพันธ์

“Treponema Pallidum” คือ เชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของซิฟิลิส โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่จริง ๆ แล้วสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ด้วยเพราะเป็นโรคที่มักไม่แสดงอาการให้เห็นในช่วงแรก จึงทำให้เมื่อโรคดำเนินไปในระยะลุกลาม จะก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรง

ที่อันตรายที่สุดคือถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งเนื่องด้วยซิฟิลิสเป็นโรคที่ผู้ป่วยมักไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อนี้เอง จึงทำให้ซิฟิลิสกลายเป็นโรคติดต่อที่แพร่กระจายได้เร็วจนกลายเป็นปัญหาทั้งในแง่ของความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยเองและการแพร่ระบาดไปยังผู้อื่น

พฤติกรรมแบบไหน ที่ทำให้ซิฟิลิสติดต่อไปยังคนอื่น?

มักเป็นความเข้าใจผิด และเป็นความกลัวที่ฝังอยู่ในความคิดของคนส่วนใหญ่ว่าซิฟิลิสนั้น สามารถติดต่อกันได้ผ่านการใช้ของใช้ร่วมกัน หรือการรับประทานอาหารร่วมกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วคือ เราสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้ป่วยโรคซิฟิลิสได้ตามปกติ โดยลักษณะการติดต่อโรคของซิฟิลิสนั้น จะติดต่อผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์เป็นหลัก ไม่ว่าจะทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือการมีเพศสัมพันธ์ทางปากกับผู้ป่วยซิฟิลิส โดยจะแพร่จากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งผ่านการสัมผัสแผลที่เกิดจากโรคโดยตรง

และนอกจากการติดต่อทางเพศสัมพันธ์แล้ว ก็ยังสามารถติดต่อได้อีกทางผ่านการจูบได้ด้วย คือ ถ้าจูบหรือสัมผัสโดนแผล ไม่ว่าจะเป็นบริเวณใด ก็สามารถติดเชื้อได้หมด  และข้อควรระวังสุดท้ายที่ควรทราบไว้ คือ เชื้อซิฟิลิสสามารถติดต่อจากแม่สู่ลูกในครรภ์ได้ ทำให้เด็กที่เกิดออกมาเป็นโรคซิฟิลิสตั้งแต่กำเนิด ซึ่งอาจร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น การป้องกันในการมีเพศสัมพันธ์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

สังเกตอย่างไร อาการแบบไหนบ่งบอกว่าเป็นซิฟิลิส?

โรคซิฟิลิสสามารถแบ่งระยะอาการออกได้ เป็น 4 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 มีแผล แต่มักมองไม่เห็น

ในระยะแรกนี้นับเป็นระยะที่ซิฟิลิสสามารถแพร่กระจายได้ง่ายมากที่สุด เพราะไม่ได้มีอาการปวดที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกตัวว่ามีอะไรผิดปกติ แต่จะมีอาการที่สังเกตได้คือ “แผลริมแข็ง” เป็นแผลเล็ก ๆ สีแดง ขอบนูนลักษณะแข็ง ๆ ซึ่งอาจเป็นแค่แผลเดียวหรือหลายแผลก็ได้ แต่เนื่องจากตำแหน่งที่ขึ้นของแผลนั้นมักอยู่ในที่ลับที่มักไม่ค่อยถูกสังเกตเห็นได้ง่าย อย่างช่องคลอด ทวารหนัก องคชาต หรือในปาก ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่าตัวเองได้รับเชื้อซิฟิลิสแล้ว และกลายเป็นพาหะ แพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่นโดยไม่ได้ตั้งใจ ผ่านการมีเพศสัมพันธ์

ระยะที่ 2 มีผื่นขึ้นเห็นได้ แต่สุดท้ายก็หายได้เอง

หลังจากเกิดแผลริมแข็งในระยะแรกผ่านไปสักประมาณ 1 เดือนหรือเร็วกว่านั้น ซิฟิลิสจะดำเนินโรคเข้าสู่ในระยะที่ 2 โดยแสดงอาการผื่นขึ้นตามฝ่ามือและฝ่าเท้าให้เห็น แต่ผื่นดังกล่าวจะไม่มีอาการคันร่วมด้วย และมีลักษณะเป็นผื่นจาง ๆ ที่อาจทำให้ผู้ป่วยบางรายอาจไม่ได้สนใจ หรือเห็นแล้วก็อาจไม่ได้ตื่นตระหนกมากนัก ซึ่งแม้บางคนอาจมีไข้ และอาการปวดเมื่อยอ่อนเพลียร่วมด้วย

แต่เนื่องจาก อาการที่แสดงออกมาไม่ได้มีความรุนแรง และเมื่อปล่อยไปสักพักก็หายเองได้ จึงทำให้ผู้ป่วยก็อาจมองข้ามไปอีกว่าตัวเองมีอาการผิดปกติ และไม่ไปตรวจเพื่อวินิจฉัยรักษา ซึ่งการหายไปเองของอาการระยะที่ 2 นี้ ไม่ได้หมายความว่าเราหายแต่อย่างใด เพราะเชื้อซิฟิลิสยังคงดำเนินโรคต่อไป และยังคงแพร่กระจายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ระยะที่ 3 เชื้อแอบแฝง เหมือนไม่มีอะไร แต่ถึงเวลาเมื่อไรคืออันตราย

นี่ถือเป็นความน่ากลัวที่สุดสำหรับซิฟิลิส เพราะจากระยะที่ 2 ผ่านไป ถ้าผู้ป่วยยังไม่รู้ตัวว่าตัวเองติดเชื้อและไม่เข้ารับการรักษา อาการต่าง ๆ ของโรคจะหายไป ราวกับว่าเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่เชื้อซิฟิลิสนั้นยังคงแฝงตัวและดำเนินโรคต่อไปอยู่ในร่างกายเรา ซึ่งอาจอยู่ได้นานเป็นปี ๆ แบบไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ เลย

นั่นจึงทำให้เป็นสาเหตุของการแพร่กระจายเชื้อที่ลุกลามเป็นวงกว้างได้ ในขณะเดียวกัน หากพ้นจากระยะแฝงไปแล้ว นั่นหมายความว่ากว่าจะรู้ตัวอีกครั้ง โรคก็ดำเนินไปถึงระยะสุดท้ายแล้ว ซึ่งมีอันตรายจึงถึงทำให้เสียชีวิตได้

ระยะที่ 4 ระยะสุดท้าย ที่เป็นอันตรายจนถึงขั้นทำให้เสียชีวิต

ระยะเวลากว่าจะมาถึงระยะสุดท้ายของโรคซิฟิลิสนั้น บางรายอาจนานถึง 10-20 ปีเลยทีเดียว ซึ่งเมื่อถึงช่วงนี้เมื่อไร นั่นหมายความว่าเชื้อได้แพร่กระจายไปทั่วร่างกายแล้ว และจะทำให้อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายถูกทำลายไปทีละส่วน ไม่ว่าจะเป็น สมอง หัวใจ กระดูก ตา เส้นเลือด ส่งผลทำให้ผู้ป่วยโรคซิฟิลิสมีอาการทางสมอง เคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้เหมือนปกติ ความสามารถในการมองเห็นลดลง และสุดท้ายคือเสียชีวิตในที่สุด

รักษาอย่างไร รักษาหายใช่ไหม เมื่อเป็นซิฟิลิส?

โรคซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้าหากตรวจพบเจอตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น ซึ่งการรักษานั้นสามารถทำได้ด้วยการให้ทานยาหรือฉีดยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนิซิลิน ซึ่งระยะเวลาในการรักษา หรือปริมาณยาที่ใช้จะมากหรือน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรคที่ตรวจพบเจอในขณะนั้น

แต่ทั้งนี้ หากปล่อยให้โรคดำเนินลุกลามไปจนถึงระยะสุดท้ายแล้ว โอกาสในการรักษาก็จะยิ่งยากขึ้น เนื่องจากเชื้อซิฟิลิสได้แพร่กระจายไปทั่วร่างกายแล้ว ดังนั้น ในทางที่ดีที่สุด หากเราตระหนักว่าเราอาจมีโอกาสเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคซิฟิลิส คือ เป็นกลุ่มที่มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกัน จึงควรหมั่นสังเกตอาการ หรือเข้ารับการตรวจหาซิฟิลิสโดยตรงเพื่อป้องกันเอาไว้ก่อนจะดีที่สุด

SEX สนุกต้องรู้จักคิด ถ้าไม่อยากถูกซิฟิลิสคุกคาม

หากจะถามว่าแนวทางในการป้องกันโรคซิฟิลิสนั้นสามารถทำได้อย่างไร คำตอบที่ได้ผลลัพธ์แบบแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์เลยก็คือ “การงดการมีเพศสัมพันธ์”  แต่ทั้งนี้ หากไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ สิ่งที่ควรตระหนักเอาไว้ให้มากที่สุดก็คือ “การสวมถุงยางอนามัย” เพราะถือเป็นการป้องกันการติดต่อของโรคทางเพศสัมพันธ์ที่ง่ายที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุด และหากเราคือหนึ่งในกลุ่มคนที่มีเพศสัมพันธ์บ่อย ๆ หรือเป็นคนที่มีเพศสัมพันธ์กับคนอื่นที่ไม่ใช่เพียงแค่คู่นอนของตนเองคนเดียว “การเข้ารับการตรวจคัดกรองซิฟิลิส” ถือเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะความอันตรายของซิฟิลิสคือภัยเงียบ ที่ไม่เพียงแค่ทำให้เราเสี่ยงโดยไม่รู้ตัวเท่านั้น แต่ยังแพร่กระจายความเสี่ยงไปให้คนอื่นในสังคมอีกด้วย

อย่างไรก็ดี ถ้าจะถามว่าอะไรคือสิ่งที่ควรทำที่สุดล่ะก็ คำแนะนำก็คือ ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์แบบเปลี่ยนคู่นอน คือให้ซื่อสัตย์กับคู่รักของตนเองเพียงคนเดียว และดูแลตัวเอง ดูแลคู่รักของเรา โดยเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโรคซิฟิลิสไม่ให้ลุกลามจนกลายเป็นปัญหาใหญ่แก่สังคม

บทความที่เกี่ยวข้อง
Scroll to Top

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า