ไทรอยด์เป็นพิษ ถือเป็นหนึ่งในภาวะผิดปกติที่เชื่อเหลือเกินว่า เราน่าจะคุ้นหูกันอยู่ไม่น้อย เพราะเป็นโรคที่พบได้ในทุกเพศทุกวัย และหลาย ๆ ครั้งก็อาจเจอได้ตามหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ออนไลน์ว่า พบผู้เสียชีวิตจากภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ซึ่งหลายคนก็อาจจะตกใจว่าเจ้าไทรอยด์เป็นพิษนี้ รุนแรงถึงขั้นสามารถเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เลยหรือ?
คำตอบก็คือ “ใช่ครับ” และเพื่อให้เราสามารถห่างไกลจากภัยอันตรายของโรคไทรอยด์เป็นพิษนี้ได้ หนทางเดียวเลยก็คือ เราจะต้องทำความรู้จักกับภาวะไทรอยด์เป็นพิษให้มากขึ้นนั่นเอง
ไทรอยด์เป็นพิษคืออะไร? รู้จักอาการเอาไว้จะได้รู้เท่าทัน
“ไทรอยด์” จริง ๆ แล้วคือต่อมชนิดหนึ่งที่มีหน้าที่ในการผลิต “ฮอร์โมนไทรอยด์” ออกมาเพื่อควบคุมรักษาสมดุลระบบเผาผลาญของร่างกายคนเราให้เป็นปกติ โดยภาวะหรือโรคไทรอยด์เป็นพิษนั้น จะหมายถึง การที่ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากเกินมาตรฐานปกติ จนทำให้ร่างกายเผาผลาญมากเกินไป เกิดเป็นอาการผิดปกติต่าง ๆ ได้แก่
- เหนื่อยง่าย ขี้ร้อน เหงื่อออกมากผิดปกติ น้ำหนักลด
- ตาโปน คอโต ท้องเสีย
- ในผู้หญิงอาจพบอาการประจำเดือนผิดปกติร่วมด้วย
- ในผู้สูงอายุอาจมีอาการเบื่ออาหารร่วมด้วย
- มีภาวะกระดูกพรุน ตับทำงานผิดปกติ
- ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ จนอาจทำให้หัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้
สาเหตุอะไร ที่ทำให้ไทรอยด์เป็นพิษ?
สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษนั้น มีอยู่ด้วยกัน 3 ข้อ คือ
- เกิดจากภาวะภูมิคุ้มกันตนเองผิดปกติ จนไปกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป ซึ่งถือเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยมากที่สุดในผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษ
- เกิดจากการมีเนื้องอกขึ้นที่ต่อมไทรอยด์ จนทำให้ต่อมไทรอยด์หลั่งฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากกว่าปกติ
- เกิดจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนฮอร์โมนไทรอยด์ หรือรับประทานยาที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งโดยมากจะพบในกลุ่มยาลดน้ำหนัก โดยเมื่อรับประทานเข้าไปเป็นจำนวนมาก ก็จะทำให้ร่างกายได้รับฮอร์โมนไทรอยด์ที่มากเกินไปจนเกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษได้
วินิจฉัยและรักษาอย่างไร เมื่อไทรอยด์เป็นพิษ?
แนวทางในการวินิจฉัยภาวะไทรอยด์เป็นพิษนั้น แพทย์จะทำด้วยวิธีการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และเจาะเลือดตรวจหาความผิดปกติ ซึ่งหากพบว่าป่วยเป็นไทรอยด์เป็นพิษจริง ก็จะดำเนินการรักษาตามสาเหตุ โดยหากตรวจพบว่าเป็นไทรอยด์เป็นพิษจากภาวะภูมิคุ้มกันตัวเองผิดปกติ ก็จะรักษาด้วยการให้ยารับประทาน แต่ถ้าหากเกิดจากการได้รับฮอร์โมนไทรอยด์ปนเปื้อนผ่านอาหารและยา แพทย์จะทำการสั่งหยุดยาและอาหารดังกล่าว แล้วติดตามอาการต่อเนื่อง
ส่วนในกรณีที่ไทรอยด์เป็นพิษจากการมีก้อนเนื้องอกขึ้นที่ต่อมไทรอยด์ แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยการให้ยา หรือการกลืนน้ำแร่ก่อน ซึ่งหากยังไม่ดีขึ้น จึงจะใช้การรักษาด้วยการผ่าตัดเป็นทางเลือกสุดท้าย
ไทรอยด์เป็นพิษ ติดต่อกันได้หรือไม่?
โดยปกติแล้วไทรอยด์เป็นพิษไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่สามารถติดจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งได้ แต่ถือเป็นโรคที่มีการถ่ายทอดกันได้ทางพันธุกรรม กล่าวคือ หากพ่อแม่มีประวัติเคยเป็นไทรอยด์เป็นพิษ ลูกก็มีโอกาสที่จะเป็นได้มากขึ้นนั่นเอง ทั้งนี้ ในกรณีที่พบการเกิดการแพร่ระบาด หรือการพบผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษจำนวนมากในที่เดียวกันคราวละหลาย ๆ คนนั้น ก็สามารถเกิดขึ้นได้ โดยจะเป็นไทรอยด์เป็นพิษจากสาเหตุของการได้รับฮอร์โมนไทรอยด์ปนเปื้อนในอาหารเป็นปริมาณมาก ๆ นั่นเอง
ไทรอยด์เป็นพิษนั้น หากปล่อยเอาไว้ให้เป็นเวลานาน ๆ อาจรุนแรงทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้จากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และหัวใจล้มเหลว ทั้งนี้ เนื่องจากสาเหตุหลักเกิดจากความผิดปกติของร่างกาย จึงทำให้ไม่มีแนวทางในการป้องกันที่ชัดเจน สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดก็คือ การรับประทานอาหารที่สะอาด สดใหม่ ปลอดภัย และไม่รับประทานยาลดน้ำหนักที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนไทรอยด์
นอกเหนือจากนั้นแล้ว สิ่งที่เราควรทำให้กับตัวเอง และคนใกล้ชิดก็คือ การหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายตัวเอง ว่ามีอาการเสี่ยงของไทรอยด์เป็นพิษหรือไม่ โดยถ้าพบอาการน่าสงสัย ก็ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาทันที จึงจะทำให้เราและคนที่รักปลอดภัยจากภาวะไทรอยด์เป็นพิษได้มากที่สุด