Cough Center คลินิกไอ

“Cough Center คลินิกไอ” อนาคตใหม่ที่สดใสของผู้ป่วยไทยไอเรื้อรัง

“ปัญหาไอ เป็นปัญหาอันดับต้น ๆ ของคน ๆ หนึ่ง ตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ 50 ขึ้นไป คือให้ลิสต์เลยว่าอาการที่ป่วยมากที่สุด ส่วนใหญ่เกิน 90 % พี่มั่นใจว่าคืออาการไอ” หนึ่งในคำยืนยันอันหนักแน่น ของคุณหมอวินัย โบเวจา อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลพญาไท 3 ถึงปัญหาอาการไอ ที่อยู่คู่กับชีวิตคนเรามาตั้งแต่เกิดจนกระทั่งช่วงเวลาสุดท้ายของบั้นปลายชีวิต

ซึ่งคุณหมอวินัยมองเห็นว่า นี่คือ “ปัญหา” ที่เราต้องให้ความสำคัญ และมองให้เห็นเป็นภาพใหญ่ว่า แท้จริงแล้วอาการไอ ไม่ใช่เพียงแค่อาการป่วยไข้เล็ก ๆ น้อย ๆ แต่เป็นสัญญาณเตือนที่อาจนำไปสู่ภัยโรคร้ายแรงสำหรับผู้ป่วยได้ รวมถึงอาจร้ายแรงจนถึงขั้นเป็นโรคระบาดติดต่อที่ส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างได้ด้วย นั่นจึงเป็นที่มาของความคิดริเริ่มในการก่อตั้ง “Cough Center” หรือ “คลินิกไอ” ที่จะมาช่วยคัดกรองและแก้ไขปัญหาไอเรื้อรังให้กับคนไทย ซึ่งรายละเอียดของคลินิกไอจะเป็นอย่างไร มีบทบาทหน้าที่ และกระบวนการในการทำงานอย่างไรนั้น วันนี้เรามีคำตอบจากคุณหมอวินัยมาฝากให้แล้ว

เพราะการไอนำไปสู่โรคใหญ่ได้ เราจึงต้องตัดไฟโรคร้ายตั้งแต่ต้นลม

ถือเป็นเรื่องธรรมดามาก ๆ ถ้าวันหนึ่งเราตื่นเช้าขึ้นมาแล้วเกิดไอ และต่อให้ไอติดต่อไปอีกสักอาทิตย์ วิธีที่เรามักเลือกใช้แก้ไขปัญหานี้กันก็คือ หายาอม หรือยาแก้ไอมาทาน แล้วก็ปล่อยให้หายไปเอง เนื่องจากเราต่างก็รู้สึกว่า อาการไอนั้นไม่ได้เป็นอะไรที่ร้ายแรงสักเท่าไหร่ ทั้งที่จริง ๆ แล้ว อาการไอที่เรื้อรังไม่หายขาดนั้น สามารถนำไปสู่โรคร้ายแรงได้เช่นกัน

“เอาโรคหนัก ๆ เลยนะ ก็คือวัณโรค แล้วก็มะเร็งปอด โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไอเรื้อรังแล้วเกรงใจลูกหลานไม่ยอมมาหาหมอ มีโอกาสเป็นมะเร็งสูงมาก ดังนั้น ลูกหลานจึงต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะถ้ามัวแต่เกรงใจ จะกลายเป็นว่า กว่าจะมาถึงโรงพยาบาลก็เป็นก้อนใหญ่แล้ว เป็นหนักแล้ว อันตรายแล้ว คืออย่าว่าแต่ผู้สูงอายุเลยครับ แต่เราเองคนธรรมดาทั่วไปทุกวัย ก็มักคิดกันกว่า ไม่มีอะไรหรอกเดี๋ยวก็หาย เพราะว่าไอมันเป็นอะไรที่เข้าใจคือเราเป็นมาตลอดชีวิต เป็นทุกปี ไอทุกปี คือเราอยู่กับมันมาตลอด ก็เลยรู้สึกว่ามันไม่ได้เป็นประเด็นอะไรมาก ซึ่งนั่นแหละ ก็เลยทำให้อาการไอ เป็นอาการที่ควรให้ความสำคัญ ควรคัดกรองเพื่อตัดไฟตั้งแต่ต้นลม เพราะมันเป็นอันตรายใกล้ตัว”

Cough Center คลินิกไอ ศูนย์คัดกรองผู้ป่วยไอเรื้อรังตั้งแต่ระยะเริ่มต้น

สำหรับแนวทางการทำงานของ Cough Center คลินิกไอ นั้น คุณหมอวินัย โบเวจา ได้อธิบายเอาไว้ว่า “…เราจะตัดกลุ่มประชากรที่ไอเกิน 2 อาทิตย์เข้ามาที่ Cough Center จริง ๆ ถามว่า ไอเรื้อรังเขาตัดกันที่ 2 เดือนนะ แต่อันนั้นคือตามทฤษฎี แต่จากประสบการณ์จริง ๆ พี่ตัดที่ 2 อาทิตย์เลย คือคนไข้ไอติดต่อกันเกิน 2 อาทิตย์ ต้องให้แพทย์ตรวจแล้ว ดูว่ามีอะไรหรือเปล่า โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง

เพราะฉะนั้น พี่ก็วางเฟรมเวิร์คว่าคนไข้ที่ไอเกิน 2 อาทิตย์จะต้องส่งเข้าคลินิกไอเลย แต่ก่อนจะส่งต้องตรวจดูก่อนว่า เขามีความเสี่ยงที่จะเป็นวัณโรคไหม โดยจะมีแบบสอบถามให้ตอบ ถ้ามีความเสี่ยงปุ๊บ ก็ไม่ต้องมาเข้า Cough Center  แต่ส่งไปตรวจเลย รีบเอ็กซเรย์เก็บเสมหะก่อน แต่ถ้าพอมา Cough Center เราก็จะเป็นการให้การตรวจวินิจฉัยรักษาแบบสหสาขาวิชาชีพ ระหว่างหมอปอด หมอทางเดินหายใจ หมอทางเดินอาหาร หมอหูคอจมูก แล้วก็หมอรังสี ซึ่งเราจะมานั่งดูกันว่า เราต้องส่งเทสอะไรบ้าง ขึ้นอยู่กับว่าอาการหนักไปทางไหน เช่นถ้าหนักไปทางปอด ก็อาจจะเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ปอด

ดังนั้น กลุ่มเป้าหมายของพี่ก็คือว่า จะเป็นคนไข้ที่ไม่ได้คำตอบ หรืออาการไม่ดีขึ้น คือไอไม่หายแล้วไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร รวมถึงคนไข้ที่มาโรงพยาบาลหลายรอบ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างโรงพยาบาลหรือภายในโรงพยาบาล มาหาหมอคนที่หนึ่ง หมอคนที่สองสามแล้ว แต่ก็ยังไม่ไอหายสักที เราจะหาคำตอบและทางรักษาให้กับเขา…”

ศูนย์รวมแห่งความเชี่ยวชาญความทันสมัย เพื่อคัดกรองโรคร้ายจากอาการไอเรื้อรัง

ในภาพรวมของ Cough Center คุณหมอวินัย โบเวจา มีความมั่นใจว่า จะสร้างผลลัพธ์ที่ดีในการรักษาให้กับคนไข้ไอเรื้อรังได้ รวมถึงยังเป็นการช่วยคัดกรองผู้ป่วยวัณโรค ผู้ป่วยมะเร็งปอดได้เป็นอย่างดี อันจะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของการควบคุมโรคร้ายในระบบทางเดินหายใจในบ้านเราให้ทุเลาความรุนแรงลง

“…ในเมืองนอกเขาก็มีทำกันนะ เพราะเขาให้ความสำคัญกับการคัดกรองอาการไอเรื้อรัง แต่ว่าก็มีแค่ไม่กี่สถาบันใหญ่ ๆ ที่ทำ ประมาณ 10-12 ที่ได้ แต่ก็คือทั้งโลก แล้วก็ในบ้านเราเท่าที่สำรวจดู นี่จะเป็นCough Center แห่งแรกในเมืองไทยเลย ซึ่งเราจะสามารถช่วยในการคัดกรองวัณโรค และบริหารความเสี่ยงในโรงพยาบาลได้ คือเราจะนำเอาสหสาขาวิชาชีพมาสมานกันแล้วก็ช่วยกันวินิจฉัย โดยใช้เครื่องมือทันสมัย คือ แผนกปอดก็จะมีเครื่องเป่าสมรรถภาพปอด อัลตร้าซาวด์ปอด หัตถการทางช่องอก หรือส่องกล้องทางเดินหายใจ ส่วนหูคอจมูกก็จะมีกล้องส่องหลอดลม จมูกไซนัสส่วนบนหรือผ่าตัด มีตั้งแต่การทำ CT ปอด การทำ CT ละเอียดของปอด สุดท้ายคือทางเดินอาหาร ก็จะมีการส่องกล้องทางเดินอาหาร

ซึ่งทั้งหมดเป็นการทำงานประสานกัน ทำให้นำไปสู่ผลลัพธ์ในการวินิจฉัยรักษาที่ดีกว่า รวดเร็วกว่า ซึ่งมีตัวเลขในการทำวิจัยของเมืองนอกรองรับชัดเจนว่าดีกว่า ทั้งนี้เราก็ยอมรับเช่นกันว่า มันมีค่าใช้จ่ายที่แพงกว่า แต่สิ่งที่เราได้กลับมาก็คือ คำตอบที่เร็วกว่า การรักษาที่ถูกต้องกว่า หายเร็วกว่า ซึ่งทั้งหมดนี้จริง ๆ แล้วก็เป็นมูลค่าเงิน ซึ่งเราเอามาเทียบตรง ๆ ไม่ได้ มันมาชนกันไม่ได้ มันมาเทียบเงินต่อเงินไม่ได้ การที่คนไข้ไม่เข้าออกโรงพยาบาลหลาย ๆ รอบมันก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้นะ เวลาของเขา ความรู้สึกเขา พวกนี้มันก็เป็นมูลค่า แต่มันแค่ตีออกมาเป็นรูปแบบเงินไม่ได้…”

อาการไอแบบไหน ที่เราควรใส่ใจและไม่ควรมองข้าม

ท้ายที่สุดนี้ คุณหมอวินัย โบเวจา ได้ให้บทสรุปถึงอาการไอที่เข้าข่ายต้องรีบมาปรึกษาแพทย์ หรือเป็นกลุ่มคนไข้ที่ควรได้เข้ารับการวินิจฉัยใน Cough Centerไว้ว่า ถ้าสังเกตพบว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิด มีลักษณะแบบนี้ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เด็ดขาด เพราะสำหรับโรคทางการแพทย์แล้ว คือเราต้องตรวจพบเจอให้เร็ว แล้วรีบรักษา ถึงจะมีโอกาสรอด

“…คนไข้ที่ไอเกิน 2 อาทิตย์ ไอมีเสมหะปนเลือด ไอแล้วมีไข้ร่วมด้วย น้ำหนักลด หรือกลุ่มคนไข้ไอที่สูบบุหรี่ กลุ่มผู้สูงอายุที่ไอเรื้อรัง หรือผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วยวัณโรคใกล้ชิด หรือมีคนในบ้านเป็นวัณโรค รวมถึงประชากรกลุ่มเสี่ยงสุดท้ายคือ คือกลุ่มที่กินยากดภูมิ ได้รับยาเคมีบำบัด ฯลฯ เราจะต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับกลุ่มคนเหล่านี้ครับ เพราะถือว่าเป็นประชากรกลุ่มเสี่ยง ที่เราต้องเล่นเกมรุกมากกว่า เพราะว่าถ้าปล่อยไว้ไม่รีบนำเข้ามาวินิจฉัยรักษา อาจจะช้าเกินไปได้ คือเราต้องเจอให้ไว เพื่อให้มีโอกาสรอดสูง ถ้าเจอช้าก็มีสิทธิ์ไปได้เลย

พี่อยากให้ทุกคนลุกขึ้นมาตื่นตัวกับอาการไอนะ เพราะโรคทางการแพทย์ กฎเหล็กเลยคือ เวลาไม่รอใคร เวลาคือทุกอย่าง เพราะฉะนั้น พี่จึงพยายามทำทุกอย่าง ทำอะไรก็ได้ให้คนเข้าใจว่า ต้องรีบ ต้องระวัง ต้องมารักษา และนั่นก็คือเหตุผลคือที่มาว่าทำไม Cough Center คลินิกไอถึงเกิดขึ้น…”

บทความที่เกี่ยวข้อง
Scroll to Top

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า