ถ้าเอ่ยถึง “โรคเบาหวาน” แล้ว เชื่อเหลือเกินว่าไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะปัจจุบันอุบัติการณ์ โรคเบาหวาน ของคนทั้งโลกนั้น ถือว่าอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก เนื่องจากมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยข้อมูลจากสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ หรือ IDF เผยว่า ทุกวันนี้มีผู้ป่วย โรคเบาหวาน รวมทั้งสิ้นมากกว่า 400 ล้านราย และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ถึงแม้จะเป็นเช่นนั้น เราก็ยังมักพบว่าคนส่วนใหญ่ ก็ยังไม่ค่อยตระหนักถึงพิษภัยของโรคนี้เท่าที่ควร
ในขณะเดียวกันก็มักมีความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับโรคเบาหวานอยู่หลายประการด้วย จึงยิ่งทำให้เพิ่มโอกาสในการเป็นโรคเบาหวานมากขึ้น และทำให้ชีวิตปลอดภัยน้อยลง ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันตัวเองและคนรอบข้างจากโรคเบาหวาน รวมถึงทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถดูแลตัวเองให้อยู่กับโรคได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข วันนี้เราจะพาไปทำความเข้าใจโรคเบาหวานกันใหม่ ผ่านความเชื่อผิด ๆ ที่ทำให้ชีวิตเสี่ยงอันตรายมากขึ้น
1.ยารักษาโรคเบาหวาน คือตัวการทำให้ไตเสื่อมเร็ว
ถือเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง เพราะแท้จริงแล้ว ตัวการที่ทำให้ไตเสื่อมไวพังเร็วนั้น ก็คือ “ภาวะโรคเบาหวาน” ต่างหาก เพราะคนที่เป็นโรคเบาหวาน จะมีน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้ความหนืดของเลือดมีเพิ่มมากขึ้น เมื่อร่างกายนำเอาน้ำตาลออกไปใช้ไม่ได้แบบคนปกติ ก็ส่งผลทำให้ไตต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อขับน้ำตาลออก และเมื่อไตทำงานหนักขึ้น ก็จะทำให้ค่าการกรองของไตค่อย ๆ เริ่มลดประสิทธิภาพลง จนกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้ไตเสื่อมในที่สุดนั่นเอง
ทั้งนี้ เวลาผู้ป่วยเบาหวานมาติดตามการรักษาตามนัด แพทย์จะมีการตรวจค่าไตเป็นระยะสม่ำเสมอ ดังนั้น ยาที่มีผลต่อโรคไตจริง ๆ แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดยาลดเพิ่ม ให้เหมาะสมกับค่าไตของคนไข้แต่ละราย นั่นจึงทำให้ยารักษาโรคเบาหวาน ไม่ใช่ตัวการที่ทำให้ไตเสื่อม แต่เป็นตัวโรคเบาหวาน ที่ถ้าหากผู้ป่วยไม่ดูแลตัวเองให้ดี ไม่คุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี ก็จะยิ่งมีโอกาสทำให้ไตเสื่อมได้เร็วมากยิ่งขึ้น
2.มีแต่คนแก่สูงวัยเท่านั้น ที่ควรหวั่นว่าอาจเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน
นับเป็นความเชื่อที่ผิดอย่างรุนแรง และทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ระวังตัวจนพาตัวเองให้มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานมากขึ้นได้ ทั้งนี้ คนทุกเพศทุกวัยสามารถป่วยเป็นโรคเบาหวานได้หมด โดยเบาหวานชนิดที่ 1 จะสามารถพบได้ตั้งแต่เด็กอายุน้อย ๆ เป็นเบาหวานที่เกิดจากความผิดปกติของตับอ่อนที่ไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ ซึ่งอินซูลินจะเป็นสารหลักที่ดึงเอาน้ำตาลไปใช้
ดังนั้น พอสร้างอินซูลินไม่ได้ ก็จะทำให้เกิดน้ำตาลค้างสะสมในกระแสเลือดจนกลายเป็นโรคเบาหวานในที่สุด ในขณะที่โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งก็เกิดจากความผิดปกติของตับอ่อนเหมือนกัน แต่ยังผลิตอินซูลินได้ แต่ว่าเป็นอินซูลินที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ทำให้ร่างกายดึงเอาน้ำตาลไปใช้ได้ไม่ดี จนกลายเป็นเบาหวานไปในที่สุด เบาหวานชนิดที่ 2 นี้จะพบมากในคนที่มีอายุมากขึ้น ส่วนใหญ่จะพบในคนที่มีความเสี่ยงร่วมด้วย เช่น น้ำหนักตัวมาก ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
กล่าวโดยสรุปก็คือ เบาหวานเป็นโรคที่พบได้ในคนทุกวัย และมีแนวโน้มพบในคนอายุน้อยลงเรื่อย ๆ โดยเป็นผลเนื่องมากจากพฤติกรรมของคนในปัจจุบันอย่างเรื่องของการรับประทานอาหาร การขาดการออกกำลังกาย ที่ทำให้เราพบโรคอ้วนในเด็กมาก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดน้ำตาลสะสมในเลือดสูงขึ้นจนกลายเป็นโรคเบาหวานไปในที่สุด
3.ทานของหวานมากเกินไป จะทำให้เป็นโรคเบาหวาน
สำหรับคนที่มีความเสี่ยงอยู่แล้ว เช่นมีภาวะโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง มีประวัติพ่อแม่คนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน จะถือว่ามีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานได้มากขึ้น หากรับประทานของหวานมากเกินไป แต่ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าเราจะมีความเสี่ยงมากกว่าคนอื่น แต่ถ้าควบคุมอาหารได้ดี หลีกเลี่ยงการรับประทานแป้งและน้ำตาลในปริมาณมาก เราก็จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานน้อยลง
ทั้งนี้ โดยแท้จริงแล้ว การเป็นเบาหวานไม่ได้ขึ้นอยู่กับของหวาน 100% เพราะต่อให้เราไม่กินของหวาน แต่เราทานแป้งเยอะ กินมันเยอะจนทำให้อ้วน ก็จะส่งผลทางอ้อมให้ร่างกายดื้ออินซูลิน และทำให้เป็นเบาหวานได้ในที่สุด แม้จะไม่ได้กินของหวานมากก็ตาม
4.ใคร ๆ ก็เป็นเบาหวานกัน ดังนั้น จึงไม่ใช่โรคร้ายที่น่ากลัว
เบาหวานถือเป็นหนึ่งในโรคอันตรายที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเป็นอันดับต้น ๆ ในโรคเลยก็ว่าได้ ทั้งนี้ เพราะเบาหวาน จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยมีทั้งภาวะที่เป็นแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง เรื้อรัง โดยแบบเฉียบพลันที่เราทราบกันดีก็เช่น น้ำตาลในเลือดสูงมากจนทำให้หมดสติ ซึม เกิดภาวะเลือดเป็นกรด อันนำไปสู่การติดเชื้อในกระแสเลือดและเสียชีวิตในที่สุด ส่วนในกรณีที่เป็นแบบเรื้อรัง ก็มักจะเป็นเรื่องของหลอดเลือดที่ผิดปกติ เช่นโรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ แล้วก็เส้นเลือดที่เท้าตีบ เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้จะเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นกับบริเวณเส้นเลือดขนาดใหญ่ ส่วนที่เป็นเส้นเลือดขนาดเล็ก ก็เช่น เบาหวานขึ้นตา เบาหวานลงไต แล้วก็เส้นประสาทเสื่อม เป็นต้น
ดังนั้น จากที่กล่าวมา จึงเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า เบาหวานเป็นโรคอันตรายที่ทุกคนควรกลัว โดยความอันตรายหลัก ๆ ของเบาหวานจะอยู่ที่ การทำให้เส้นเลือดเสื่อมสภาพ ทำให้การบีบและคลายตัวของเส้นเลือดผิดปกติ จนกลายเป็นสาเหตุของโรคร้ายที่ทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด
5.เป็นเบาหวาน ห้ามรับประทานของหวานโดยเด็ดขาด
ไม่ถูกต้องเสมอไป โดยสำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่ยังคุมน้ำตาลได้ไม่ดี หรือผู้ป่วยเบาหวานที่เพิ่งเป็นใหม่ ๆ แนะนำให้ “งด” คือหยุดรับประทานของหวานไปก่อน เพื่อให้สามารถรักษาโรคและคุมระดับน้ำตาลให้ได้ดีก่อน ส่วนกรณีผู้ป่วยที่คุมระดับน้ำตาลได้ดีแล้ว สามารถรับประทานของหวานได้ แต่แนะนำเป็นการ “ทานแบบแลกเปลี่ยนอาหาร” เช่นในกรณีที่เราอยากทานขนมหวานมื้อไหน ก็ควรลดแป้งลดคาร์โบไฮเดรตในมื้อนั้น ๆ ลง เพื่อให้เป็นการแลกเปลี่ยนกัน เพราะในแป้งก็มีน้ำตาล ของหวานก็มีน้ำตาล ถ้าเราทานคู่กัน ก็จะยิ่งทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้
ดังนั้น เราจึงควรลดแป้งลงหากอยากทานของหวาน เพื่อให้สามารถคุมโรคและระดับน้ำตาลของตัวเองได้ดี ทั้งนี้ วิธีการทานแบบแลกเปลี่ยนนั้น จะช่วยทำให้เราได้ทานอาหารอย่างมีความสุขมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อภาพรวมของร่างกายมากกว่า เพราะการคุมอาหารที่เข้มมากเกินไป อาจส่งผลต่อสภาพจิตใจจนทำให้เป็นผลเสียต่อร่างกายได้
6.ห้ามบริจาคเลือดให้ใคร ถ้าถูกวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน
ในความเป็นจริงแล้วคนเป็นเบาหวานสามารถบริจาคเลือดได้ เพียงแต่มีข้อควรระวัง คือ ต้องบริจาคเมื่อสภาพร่างกายพร้อมเท่านั้น เพราะโดยส่วนใหญ่คนที่เป็นโรคเบาหวานจะมีโรคแทรกซ้อน เช่นเป็นความดันโลหิตสูง หลอดเลือดสมองหลอดเลือดหัวใจตีบ ฯลฯ ซึ่งการบริจาคเลือดอาจทำให้โรคแทรกซ้อนดังกล่าวกำเริบ หรือแสดงอาการที่ส่งผลเสียต่อร่างกายได้
ทั้งนี้ เลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ไม่ใช่เลือดที่ไร้ประโยชน์ แต่ยังสามารถนำไปใช้ได้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นเกล็ดเลือด หรือเม็ดเลือดขาว ดังนั้น คนเป็นเบาหวานจึงบริจาคเลือดได้ และเลือดที่บริจาคไปก็ใช้ประโยชน์ได้ แต่จะต้องให้ร่างกายอยู่ในสภาพที่พร้อมสมบูร์เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้กับตัวเอง
7.ฉันผอม ฉันไม่อ้วน ฉันปลอดภัย ไม่ต้องหวั่นใจว่าจะเป็นเบาหวาน
โดยปกติแล้วคนอ้วนมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานมากกว่าคนปกติทั่วไปถึงกว่า 50% เพราะภาวะอ้วนจะทำให้ร่างกายดื้ออินซูลิน จนทำให้เกิดน้ำตาลสะสมในเลือดจนกลายเป็นเบาหวานในที่สุด แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าคนผอม คนไม่อ้วนจะเป็นโรคเบาหวานไม่ได้ เพราะหากเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งเป็นความผิดปกติของตับอ่อนที่ผลิตอินซูลินไม่ได้ อันนี้ ต่อให้ไม่อ้วนก็เป็นเบาหวานได้เช่นกัน
หรือเราอาจพบการเป็นเบาหวานได้จากกรณีอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ถ้าพ่อกับแม่เป็นเบาหวานทั้งคู่ ลูกก็อาจเป็นเบาหวานได้ โดยเป็นได้ตั้งแต่อายุน้อย ๆ เลย เพราะเบาหวานเป็นโรคที่ส่งต่อได้ทางพันธุกรรม ดังนั้น อย่าชะล่าใจว่าไม่อ้วนแล้วจะไม่มีโอกาสเสี่ยงเป็นเบาหวาน
8.ผู้ป่วยเบาหวานที่ฉีดอินซูลินรักษา แสดงว่าเข้าขั้นโคม่าอาการหนัก
การใช้อินซูลิน คือ วิธีการรักษาที่เหมาะสมกับคนไข้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้อง “อาการหนัก” ถึงฉีดอินซูลิน เพราะ การฉีดอินซูลินรักษานั้น จะพิจารณาตามความเหมาะสมของแพทย์ อย่างในกรณีผู้ป่วยเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 แล้วมีโรคไตร่วมด้วย ทำให้ไม่สามารถใช้ยารับประทานบางอย่างได้ หรือทานยาแล้วแต่ยังควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดีพอ แพทย์ก็จะพิจารณาใช้การฉีดอินซูลินเข้าช่วย เพราะไม่มีวิธีรักษาอื่นที่เหมาะสมกว่านี้อีกแล้ว ไม่ได้เกี่ยวกับว่าต้องรอให้อาการหนักก่อนแล้วถึงค่อยฉีดอินซูลินรักษา
9.น้ำตาลจากผลไม้ กินดีกินได้ ไม่อันตรายทำให้เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน
น้ำตาลจากผลไม้ก็สามารถส่งผลต่อความเสี่ยงทำให้เป็นโรคเบาหวานได้เช่นกัน เพราะน้ำตาลฟรุกโตสก็สามารถเปลี่ยนเป็นกลูโคสได้ในกระแสเลือด ดังนั้น การรับประทานผลไม้ที่มีน้ำตาลฟรุกโตสในปริมาณมาก ๆ ก็จะทำให้มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานได้ และยังมีความเสี่ยงเพิ่มในเรื่องของไขมันเกาะตับได้มากกว่ากลูโคสอีกด้วย ดังนั้น การทานผลไม้ในปริมาณที่เหมาะสม และเลือกทานผลไม้ที่น้ำตาลน้อย อย่างแอปเปิ้ล ชมพู่ แก้วมังกร ที่รสไม่หวานจัด จึงเป็นทางเลือกที่ดี มีประโยชน์ และปลอดภัยกับร่างกายมากกว่า
10.แป้งและน้ำตาลเท่านั้น คือปัญหาที่ทำให้เป็นเบาหวาน
ไม่เสมอไป เนื่องจากไขมันและโปรตีน ก็สามารถเปลี่ยนไปเป็นน้ำตาลในเลือดได้เช่นกัน เพียงแต่ใช้เวลานานกว่า แต่ถ้าทานมาก ๆ สะสมในปริมาณมาก ๆ บวกร่วมกับความเสี่ยงอื่น ๆ เช่น อ้วน จนเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ความดันสูง มีคนในครอบครัวเคยเป็นเบาหวาน ก็สามารถทำให้แม้ไม่ทานแป้งและน้ำตาล ก็มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานได้เช่นกัน ดังนั้น หากต้องการให้ตัวเองปลอดภัยห่างไกลจากเบาหวานจริง ๆ ก็ต้องดูแลภาพรวมของการรับประทานให้ดี คุมความเสี่ยงให้ดี ไม่ให้ตัวเองอ้วน จึงจะมีโอกาสปลอดภัยได้
11.เบาหวานรักษาหายได้ด้วยสมุนไพร โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยา
สมุนไพรบางตัวมีคุณสมบัติในการลดระดับน้ำตาลในเลือดได้จริง เช่น หนานเฉาเหว่ย รางจืด ปอกะบิด เป็นต้น แต่ว่าโดยส่วนใหญ่แล้วมักเป็นการทำการศึกษาหรือทดลองในวงเล็ก ๆ ที่ไม่ได้ทำกันทั่วโลก จึงทำให้เราไม่อาจทราบได้จริง ๆ ว่าต้องทานปริมาณเท่าไร เพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดให้ลงได้ตามที่ต้องควบคุม และการปรับสมุนไพรจะต้องทำอย่างไร เพื่อให้เหมาะกับผู้ป่วยที่เป็นโรคอื่นร่วมด้วย อย่างโรคไต โรคตับ อีกทั้งด้วยการศึกษาที่ยังไม่เพียงพอ จึงทำให้เราไม่ทราบถึงผลแทรกซ้อนที่ตามมาด้วย ดังนั้น ในการรักษาโรคเบาหวานที่ดีและปลอดภัยที่สุดนั้น จึงควรเป็นไปตามการแพทย์แผนปัจจุบันที่ได้ผ่านการศึกษาจนได้มาตรฐานการรักษาที่ได้รับการยอมรับใช้กันทั่วโลก
ความเชื่อผิด ๆ หรือความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับโรคเบาหวานนั้น ถือได้ว่าซึมลึกอยู่ในสังคมมาเป็นเวลานานแล้ว และก็จะค่อย ๆ ซึมลึกยิ่งขึ้นไปอีก แพร่กระจายออกไปยังวงกว้างมากขึ้นอีก หากไม่ได้รับการแก้ไข เพื่อทำความเข้าใจเสียใหม่ ซึ่งหากเรายังคงปล่อยให้ทุกคนมีความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับโรคเบาหวานอยู่ ผลลัพธ์ที่จะตามมาก็คงหนีไม่พ้น จำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานมีมากขึ้น และผู้ป่วยเบาหวานมีแนวโน้มอาการหนักขึ้น มีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น เพราะไม่สามารถดูแลตัวเอง หรือไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ที่ถูกต้อง ดังนั้น การทำความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับเรื่องของเบาหวาน จึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่เราทุกคนควรรู้ติดตัวไว้ เพื่อเอาไว้ใช้ดูแลตัวเอง และดูแลคนที่เรารัก ให้ปลอดภัยจากภัยของโรคเบาหวานให้ได้มากขึ้น