ที่ออกกำลังกายกันทุกวันนี้ เราได้ “Warm Up” และ “Cool Down” กันบ้างไหมครับ?
นับเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับการออกกำลังกายที่ถือเป็นเบสิคพื้นฐานที่ไม่ว่าเราจะเป็นแค่คนรักสุขภาพ
หรือเป็นนักกีฬาอาชีพ หรือเป็นคนที่ต้องการเป็นนักกีฬาอาชีพ ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการ “วอร์ม อัพ” ก่อนออกกำลังกาย และการ “คูล ดาวน์” หลังออกกำลังกายสักเท่าไร ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นเพราะ “ใจร้อน” ที่จะรีบๆ ออกกำลังกาย ใจร้อนที่จะอยากได้ผลลัพธ์ จนข้ามขั้นตอนสำคัญไป ซึ่งจะส่งผลให้ร่างกายได้รับบาดเจ็บ เรื้อรัง และสุดท้ายก็จบลงที่ ไม่สามารถออกกำลังกายได้อย่างสม่ำเสมอ จนพลาดหุ่นสวย จนลดน้ำหนักไม่ได้ จนไม่ฟิตพอสำหรับการแข่งขัน จนพลาดล้มเหลวกับเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ในที่สุด
การ “วอร์ม อัพ” คือการทำให้ร่างกายของเราเตรียมพร้อมสำหรับการออกกำลังกาย คือ การส่งสัญญาณบอกให้ร่างกายเราทราบว่า “เรากำลังจะออกแรงแล้วนะ” เพื่อให้ร่างกายเตรียมตัวที่จะปรับสภาพให้พร้อมกับการออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเห็นการค่อยๆ เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ การยืดกล้ามเนื้อ และข้อต่อ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายได้ เปรียบไปแล้วก็เหมือนกับเวลาที่เราถูกให้ออกไปพูดหน้าชั้นแบบกะทันหันครับ ถ้าเรารู้ตัวก่อนเราก็จะเตรียมบท เตรียมตัว และไม่ประหม่า ก็จะทำผลงานออกมาได้ดี แต่ถ้าจู่ๆ ถูกเรียกออกไปแบบไม่ตั้งตัว เราก็จะเขอะเขิน พูดติดขัด และพลาดได้ในที่สุด ทั้งนี้ การวอร์ม อัพ สามารถทำได้หลายวิธี อาทิ การเล่นเครื่องปั่นจักรยาน การวิ่งจ๊อกกิ้งอยู่กับที่ หรือการยืดเส้น กระโดดเชือก โดยเวลาที่เหมาะสมสำหรับการวอร์มอัพ ก่อนเริ่มออกกำลังกายจริงคือ 5 – 10 นาที
[irp posts=”72″ name=”4 ประโยชน์ที่เราจะได้รับจากการทำ SQUAT”]
[irp posts=”100″ name=”Buriram United”]
การ “คูล ดาวน์” คือการปรับสภาพร่างกายให้ค่อยๆ เข้าสู่สภาพปกติ เป็นการส่งสัญญาณให้ร่างกายรู้ว่า เรากำลังจะหยุดออกกำลังกายแล้ว ความสำคัญของการ คูล ดาวน์ นี้ ขอให้นึกถึงการเบรกรถกะทันหันครับ ถ้าเราขับรถมาด้วยความเร็วมากๆ แล้วจู่ๆ ก็เบรกทันที โอกาสประสบอุบัติเหตุ โอกาสที่เราจะได้รับแรงกระแทกจากการเบรกจนเป็นอันตรายก็มีสูง เช่นกันกับการออกกำลังกายมาอย่างเต็มที่ ที่หากหยุดทันทีกะทันหัน ร่างกายปรับสภาพไม่ทัน ก็มีผลต่ออาการบาดเจ็บได้ ดังนั้น หลังจากออกกำลังกาย เราจึงควรทำการคูลดาวน์ เพื่อค่อยๆ ปรับอัตราการเต้นของหัวใจให้กลับมาเป็นปกติ ให้กล้ามเนื้อค่อยๆ คลายตัวจากการใช้งาน ด้วยการเดินช้าๆ หรือจะกลับมาวิ่งเหยาะ ยืดเหยียด เหมือนตอนวอร์มอัพก็ได้ เป็นเวลาประมาณ 5-10 นาที
บ่อยครั้งความใจร้อนของเรา ก็เป็นสิ่งเร่งเร้าที่ทำให้ร่างกายได้รับบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย และนำไปสู่การไม่สามารถออกกำลังกายได้อย่างมีประสิทธิภาพตามเป้าหมาย ดังนั้น การวอร์ม อัพ และการคูล ดาวน์ เพื่อเตรียมพร้อมร่างกายนั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การออกกำลังกายของเรามีประสิทธิภาพ และก้าวไปถึงผลลัพธ์ที่เป็นจุดหมายสูงสุด เป็นเป้าหมายของการออกกำลังกายที่เราตั้งไว้ ได้สำเร็จ