บ่อยครั้งแค่ไหนกันครับ ที่หลังสิ้นสุดความพ่ายแพ้ของทีมกีฬาไทย แล้วเราต้องพบว่า เพื่อเพราะใครที่ทำให้ “เรา” พ่ายแพ้?
ถ้าจะบอกว่ามันคือวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของวงการกีฬาบ้านเราก็คงพูดได้ไม่เต็มปากนัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า บ่อยครั้งเราก็ทำแบบนั้นกันจริงๆ ที่เมื่อทีมกีฬาไทยแพ้ปุ๊บ เราก็มักจะได้เห็นข้อความ เห็นความคิดเห็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างครึกโครมปนสนุกปากว่า “เพราะคนนั้น คนนี้ เพราะแบบนั้น แบบนี้แหละ ทีมถึงได้แพ้” ซึ่งกองเชียร์คนไทยเรากันเองนี่แหละครับคือหนึ่งในกองแช่ง “หาแพะ” ที่เก่งที่สุด ที่ถึงแม้การกีฬาจะเป็นสิ่งที่วิพากษ์ได้ ถึงแม้การวิพากษ์จะนำไปสู่การพัฒนาที่ดีขึ้น แต่คำถามก็คือ “บรรยากาศการวิจารณ์ทุกวันนี้ของวงการกีฬาบ้านเรานั้น” มันนำไปสู่ทิศทางของการพัฒนาจริงๆ หรือเปล่า?
[irp posts=”188″ name=”คำพูดของโค้ชสำคัญอย่างไร”]
[irp posts=”72″ name=”4 ประโยชน์ที่เราจะได้รับจากการทำ SQUAT”]
บางทีการวิพากษ์วิจารณ์ของเราก็เป็นเพียงแค่ “การหาคนผิด” มารับผิดชอบกับความพ่ายแพ้นั้น โดยที่บางคนวิจารณ์เองอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันต้องทำอย่างไรจริงๆ มันต้องแก้ไขอย่างไรจริงๆ ถึงจะนำไปสู่การพัฒนาที่ดีขึ้นได้ ซึ่งแน่นอนว่า “เสียงวิจารณ์แย่ๆ” นั้นมันดังกว่าเสียงสนับสนุนอย่างมีเหตุผล จึงทำให้บ่อยครั้ง แทนที่เราจะทำให้นักกีฬา โค้ช หรือทีมกีฬารู้สึกดีมีกำลังใจกับการหันกลับมาแก้ไขข้อผิดพลาด ก็กลายเป็นการตัดกำลังใจ บั่นทอนกำลังใจ หรืออาจถึงขั้นสูญเสียนักกีฬาและบุคลากรดีๆ ไปอย่างน่าเสียดาย
จะมีใครบ้างล่ะครับที่ไม่เคยทำผิดพลาดเลย แม้แต่เซอร์อเล็กผู้ยิ่งใหญ่ ก็ยังมีวันที่คุมทีมแพ้ แม้แต่นักกีฬาที่ครองแชมป์หลายสมัยก็ยังมีวันถูกคลื่นลูกใหม่แทนที่ ความพ่ายแพ้สำหรับวงการกีฬาถือเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่น่าจะต้องถูกทำร้ายซ้ำเติมอีก เพราะเพียงแค่พ่ายแพ้มันก็เจ็บปวดมากพอแล้ว ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดหลังเกมส์การแข่งขันที่เราไม่ได้เป็นผู้ชนะ มันจึงไม่ควรเลยที่เราจะ “หาแพะ” แต่ควรที่เราจะต้อง “หาข้อบกพร่อง” ให้เจอมากกว่า ว่าเราพลาดตรงไหน ต้องปรับปรุงตรงไหน แล้วมาร่วมด้วยช่วยกันเตรียมพร้อม ฝึกซ้อมให้หนัก เพื่อพัฒนาทีมกีฬาเราให้ก้าวต่อไปได้ไกลกว่าเดิม เรื่อยๆ แม้มันอาจช้าไปบ้าง แต่ก็ยังดีกว่าถูกตัดรอนขวางทางจากคำวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่ได้ช่วยสร้างสรรค์ปูทางสู่ความสำเร็จอะไรเลย