ปัจจุบัน “อาหารสุขภาพ” ถือเป็นหนึ่งในเทรนด์ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะผู้คนหันมาใส่ใจกับการดูแลสุขภาพ
ร่างกายของตัวเองอย่างพิถีพิถันซึ่งแน่นอนว่า เกณฑ์ในการที่จะทำให้เราตัดสินใจได้ว่าอาหารใดเป็นอาหารสุขภาพจริงๆ นั้น หลักๆ ก็คือ “ฉลากหรือข้อความบนบรรจุภัณฑ์” ที่อาจเต็มไปด้วยคำโฆษณาชวนเชื่อ และทำให้ในที่สุดแล้ว เราอาจไม่ได้เลือกซื้ออาหารสุขภาพจริงๆ ก็ได้ ดังนั้น ในการพิจารณาเลือกซื้ออาหารสุขภาพนั้น เราจำเป็นจะต้องดูรายละเอียดให้ดี และไม่เผลอไผลง่ายๆ ไปกับถ้อยคำโฆษณาเก๋ๆ คูลๆ และดูดี ดังต่อไปนี้
1. “Natural” ผลิตจากวัตถุดิบจากธรรมชาติ
เมื่อไรก็ตามที่เราเห็นป้ายกำกับคำโฆษณาว่า “ธรรมชาติ” ขอให้เราอย่าเพิ่งว้าวไปซะก่อนกว่านี่แหละใช่เลย เพราะหลายๆ ผลิตภัณฑ์ มีส่วนผสมหลักจากธรรมชาติก็จริง แต่ก็ยังมีส่วนผสมอื่นที่ไม่ธรรมชาติปะปนอยู่ด้วย หรือบางทีส่วนผสมที่ไม่เป็นธรรมชาตินั้นมีปริมาณมากกว่าที่เป็นธรรมชาติซะอีก ดังนั้น อย่าหลงใหลไปกับแค่คำว่า “ธรรมชาติ” แต่ควรดูส่วนประกอบทั้งหมดให้ดี พิจารณาให้ดีด้วยว่า อาหารหรือผลิตภัณฑ์นั้น เป็นธรรมชาติจริงๆ หรือไม่กันแน่
2. “Fresh” สดใหม่ทุกวัน
สำหรับคำว่า Fresh สดใหม่ จริงๆ แล้วควรใช้กับ อาหารสด ที่ทำสดใหม่ทุกจาน เพิ่งออกจากเตา ออกจากครัวแล้วถึงปากเราเลยเท่านั้น แต่ปัจจุบัน คำว่า Fresh สดใหม่ ก็ถูกนำไปแปะอยู่บนแพ็คเกจจิ้งของอาหารที่มีวันหมดอายุ คือมีการใส่สารกันเสียอยู่ ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะแย่ไปซะหมดนะครับ แต่อย่างน้อยเราก็ควรดูวันหมดอายุให้ดี ดูสภาพของอาหารเหล่านั้นว่ามันสดใหม่มากแค่ไหน สดใหม่จริงๆ หรือเปล่า หรืออย่างพวกผัก สลัดต่างๆ ความสดใหม่ที่ว่านั้น มันสดเพราะสดจริง หรือสดเพราะสารเคมีกันแน่ เพราะหากเลือกไม่ดีล่ะก็ อาจจะทำให้ป่วยได้เลยทีเดียว
3. Low Fat ไขมันต่ำ แต่อย่างอื่นอาจไม่ต่ำ
หลายคนเห็นคำว่า Low Fat หรือ ไขมัน 0% ปุ๊บ ก็แทบจะรีบกระโจนเข้าใส่ เพราะมันทำให้เรารู้สึกว่าเรากำลังให้สิ่งดีๆ กับร่างกายอยู่ แต่ทั้งนี้ คำว่าไขมันต่ำนั้น ไม่ได้หมายความว่าอย่างอื่นจะต่ำด้วย เราจำเป็นต้องดูด้วยว่าปริมาณน้ำตาลนั้นสูงหรือเปล่า เพราะมีแนวโน้มว่าผลิตภัณฑ์ไขมันต่ำ จะใส่ปริมาณที่สูงกว่าเข้าไปเพื่อชดเชยรสชาติที่หายไปจากการลดไขมัน อีกทั้งเอาจริงๆ แล้วศัตรูตัวร้ายของร่างกายนั้นก็ใช่ว่าจะมีแต่ไขมัน แต่น้ำตาลเองก็ร้ายไม่ใช่เล่นเช่นกัน นั่นเองที่ทำให้เราไม่ควรหลงใหลไปกับเพียงแค่คำว่าไขมันต่ำน้ำตาลน้อย แต่ควรดูฉลากบนบรรจุภัณฑ์ให้ดีให้รอบคอบที่สุด เพื่อสุขภาพที่ดีที่สุดของเรา
4. GOOD SOURCE OF PROTEIN แหล่งรวมโปรตีนชั้นเลิศ
การได้รับปริมาณโปรตีนที่เพียงพอและเหมาะสมต่อวันของร่างกาย คือหนึ่งในแนวทางดูแลร่างกายและสุขภาพที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย จึงทำให้เรามักแสวงหาอาหารที่มีปริมาณโปรตีนสูงๆ รับประทาน ทั้งนี้ ในความเป็นจริงแล้ว บางทีเราอาจจะลืมไปว่าอาหารเหล่านั้นโปรตีนสูงจริง แต่ส่วนผสมอื่นๆ ก็อาจสูงตามไปด้วย ทำให้จริงอยู่ที่ได้รับโปรตีนถึง แต่กลายเป็นว่าทำให้อะไรที่ไม่ควรเกิน ก็เกินตามไปด้วย ดังนั้น ถึงแม้จะต้องการโปรตีนเพียงใด ก็จำเป็นต้องใส่ใจกับสารอาหารอื่นๆ ด้วยเช่นกัน และบางทีการจะเพิ่มปริมาณโปรตีนนั้น เพียงแค่ดื่มนมเพิ่มขึ้น ก็เพียงพอจะเป็นทางเลือกที่ดี ที่ทำให้เราได้รับโปรตีนมากพอ และไม่ทำให้ได้รับสารอาหารอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นเกินพอได้แล้ว แต่ก็ต้องเป็นนมที่เราอ่านฉลากละเอียดถี่ถ้วนดีแล้วเช่นกัน
5. Detox เอาสารพิษออกจากร่างกาย
การ Detox คือการรับประทานอาหารเพื่อล้างพิษ ซึ่งก็เป็นแนวคิดที่ดีและมีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย แต่ทั้งนี้ ถ้าเราเลือกผลิตภัณฑ์อาหารที่ดีจริงก็ดีไปครับ แต่ถ้าเลือกไม่ดีแล้วเมื่อไหร่ แทนที่จะเป็น Detox เอาออก จะกลายเป็นนำสารพิษหรือสารไม่พึงประสงค์เข้าสู่ร่างกาย จนอาจสะสมทำให้เกิดอันตรายได้ในระยะยาว ดังนั้น อย่าเพียงแต่ให้ความสำคัญกับคำว่า Detox จนลืมรายละเอียดอื่นๆ ที่เราต้องพิจารณาด้วย อาทิ มี อย. ไหม น่าเชื่อถือไหม มีรีวิวไหม เป็นต้น
อย่าเผลอลืมไปว่า “ข้อความคำโฆษณา” ต่างๆ ที่อยู่บนฉลากบรรจุภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพทั้งหลาย มีเป้าหมายหลักสำคัญคือ “เพื่อเพิ่มยอดขาย” มากกว่า “การสนับสนุนไลฟ์สไตล์เพื่อสุขภาพ” หลายครั้งคำโฆษณาเหล่านั้น คือ “ความจริง” ก็จริง แต่เป็นความจริงที่พูดไม่หมด เป็นความจริงเพียงส่วนน้อย ที่เหมือนกับยอดภูเขาน้ำแข็ง เหมือนกับเราดูตัวอย่างหนังนั่นแหละครับ ที่มันยังมีรายละเอียดอีกหลายอย่างที่เราต้องพิจารณา ดังนั้น ถ้าอยากได้อาหารที่ดีต่อสุขภาพจริงๆ แล้วล่ะก็ อย่ามองข้ามการอ่านส่วนประกอบของอาหาร รายละเอียดบนบรรจุภัณฑ์อย่างตั้งใจเด็ดขาด เพราะนั่นคือโอกาสที่จะทำให้เราเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพได้อย่างเหมาะสม ปลอดภัย และมีประโยชน์ต่อร่างกายเราได้มากที่สุด