“ข้อเท้า” ถือเป็นหนึ่งในอวัยวะที่มีความสำคัญมากในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ “นักกีฬา” ที่หากปล่อยให้ข้อเท้าเกิดอาการบาดเจ็บขึ้นมาแล้ว
ก็จะทำให้ไม่สามารถแสดงศักยภาพของการเคลื่อนไหวออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ อาการบาดเจ็บอย่างหนึ่งที่สำคัญและพบได้บ่อยในหมู่นักกีฬา ซึ่งอาจพบได้ตั้งแต่เด็กๆ เลยก็คือ “ข้อเท้าพลิก” ซึ่งหากปล่อยให้มีการพลิก แพลง บ่อยๆ อาจนำไปสู่อาการบาดเจ็บที่รุนแรงกว่า คือ “เอ็นข้อเท้าหลวม” ได้ ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายและเป็นอุปสรรคขัดขวางเส้นทางความสำเร็จในอาชีพ
สาเหตุของเอ็นข้อเท้าหลวมเกิดจากอะไร?
โดยทั่วไปแล้วสาเหตุที่ทำให้เกิด “เอ็นข้อเท้าหลวม” นั้น มีอยู่ด้วยกันหลายประการ อาทิตย์
• เกิดอุบัติเหตุข้อเท้าพลิกบ่อยๆ
• เกิดจากการรักษาอาการข้อเท้าพลิกที่ไม่ถูกต้อง
• ใช้ข้อเท้ามากเกินไป ซ้อมหนักเกินไป หรือลงแข่งขันมากเกินไป โดยพักข้อเท้าไม่เพียงพอ
• ไม่ได้มีการวอร์มข้อเท้าอย่างถูกวิธี ก่อนที่จะลงแข่ง หรือทำกิจกรรมที่ใช้ข้อเท้า
• การยืน เดิน วิ่ง ด้วยท่าทางที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม
จากสาเหตุดังกล่าว เราจะพบได้ว่า โดยรวมแล้วเป็นเรื่องพื้นฐานที่คนส่วนใหญ่ละเลย ทั้งที่จริงๆ แล้วควรให้ความสำคัญ และเพราะแบบนี้เอง จึงทำให้นักกีฬา หรือคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำมีโอกาสบาดเจ็บเป็นเอ็นข้อเท้าหลวมได้
อาการของเอ็นข้อเท้าหลวมเป็นอย่างไร?
วิธีการสังเกตว่าเราเสี่ยงเป็นเอ็นข้อเท้าหลวมหรือไม่นั้น สามารถสังเกตได้ ดังนี้
• ข้อเท้าทรุดหรือพลิกง่าย พลิกบ่อย
• เวลาเดิน หรือวิ่ง มีความรู้สึกว่าข้อเท้าไม่มั่นคง
• เดินบนพื้นทราย หรือพื้นเรียบลำบาก
• มีอาการปวดข้อเท้าร่วมด้วย
ทั้งนี้ อาการที่ค่อนข้างแน่ชัดว่าเรามีโอกาสเสี่ยงเป็น “เอ็นข้อเท้าหลวม” นั้น คือ ข้อเท้าพลิกบ่อย และรู้สึกไม่มั่นคงที่เท้า คือบ่อยครั้งเวลาเดินๆ หรือวิ่ง เพียงแค่เบาๆ ก็จะเกิดการกระตุก พลิก อยู่บ่อยครั้ง หากพบว่าตัวเองมีอาการดังกล่าว ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด เพราะหากปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายรุนแรงเรื้อรังได้
รักษาได้หรือไม่ เมื่อเป็นเอ็นข้อเท้าหลวม?
โดยทั่วไปแล้ว การรักษาอาการเอ็นข้อเท้าหลวมนั้น จะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป และต้องอาศัยวินัยในการปรับปรุงพฤติกรรมอย่างสม่ำเสมอ โดยมีแนวทางในการรักษา ดังนี้
• ฝึกบริหารกล้ามเนื้อเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของเอ็นข้อเท้า
• ฝึกควบคุมการทรงตัว และการเดิน วิ่ง ยืน ด้วยท่าทางที่ถูกต้อง
• ใช้อุปกรณ์เสริมในการรัดข้อเท้า เพื่อป้องกันการพลิกบ่อยๆ
• หากมีอาการปวดก็จะมีการให้ยาเพื่อลดการอักเสบ
• ในการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาต้องมีการวอร์มข้อเท้าก่อนทุกครั้ง เพื่อให้ข้อเท้าพร้อมกับการทำกิจกรรม รวมถึงหลังออกกำลังกายแล้วก็ต้องวอร์มด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ การวอร์มข้อเท้า อาจทำได้ด้วยการยืดเหยียด หมุนเบาๆ หรือใช้อุปกรณ์อย่าง โฟมโรลเลอร์ มินิแบนด์ และพาวเวอร์แบนด์ เพื่อให้ข้อเท้าได้ออกแรงและเตรียมตัวก่อนทำกิจกรรม
• เรียนรู้และฝึกฝนการลงน้ำหนักเท้าที่ถูกต้อง รู้จักวิธีจัดสมดุลร่างกายตัวเองในการเคลื่อนไหว ไม่ให้ข้อเท้าข้างใดข้างหนึ่งรับภาระหนักเกินไป
อาการข้อเท้าพลิกนั้น เป็นอาการที่พบได้บ่อยทั้งกับนักกีฬาและคนทั่วไป ซึ่งบ่อยครั้งหลายๆ คนอาจรู้สึกว่าไม่ได้เป็นอะไรที่ร้ายแรง และคิดว่าเดี๋ยวก็หาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากไม่ได้มีการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี รวมถึงไม่ได้เรียนรู้ที่จะเข้าใจกลไกในการจัดท่าทางเพื่อป้องกันไม่ให้ข้อเท้าพลิกแล้วล่ะก็ มักส่งผลทำให้ข้อเท้าพลิกซ้ำบ่อยๆ และนำไปสู่โรคเอ็นข้อเท้าพลิกได้ ซึ่งจะกลายเป็นอาการบาดเจ็บเรื้อรังที่ทำลายอนาคตของนักกีฬา และทำให้ชีวิตประจำวันเป็นไปอย่างยากลำบาก ดังนั้น เราจึงควรใส่ใจในเรื่องของการออกกำลังกายอย่างถูกวิธี และการวอร์มอย่างพอเพียง ก่อนที่จะทำกิจกรรมใดๆ ก็ตามที่ต้องใช้ข้อเท้า