ในยุคที่กระแสของการวิ่งเพื่อสุขภาพกำลังเบ่งบาน เชื่อเหลือเกินว่าก็มีผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกไม่ Enjoy กับการวิ่ง
มากนักเพราะอาจเป็นการออกกำลังกายที่หนักเกินไป ยุ่งยากเกินไป และกินเวลาในชีวิตเกินไป จนไม่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ตัวเอง จึงทำให้รู้สึกว่าถ้าไม่วิ่งก็จะไม่มีทางไหนที่จะทำให้ร่างกายได้ออกกำลังกายเลย ทั้งนี้ ทางเลือกอีกทางหนึ่งของการออกกำลังกาย ที่ก็ได้ประโยชน์ไม่แพ้กันกับการวิ่ง และแถมทำได้ง่ายกว่า ก็คือ “การเดิน” ซึ่งถือว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายหลายอย่าง ดังต่อไปนี้
1. ช่วยให้การทำงานของปอดและหัวใจดีขึ้น ซึ่งในปัจจุบันในทางการแพทย์ได้มีการยืนยันแล้วว่าไม่มียาหรือสารอาหารใดจะทำให้ปอดและหัวใจแข็งแรงได้เท่ากับการออกกำลังกาย และการเดินก็คือการออกกำลังกายที่มีส่วนทำให้ปอดและหัวใจแข็งแรง
2. มีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกระดูกและกล้ามเนื้อ
3. ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของข้อต่อในร่างกาย
4. ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ได้ เพราะการเดิน ถือเป็นการออกกำลังกายเช่นเดียวกันกับการออกกำลังกายรูปแบบอื่น ที่มีส่วนช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและต้านทานโรคภัย
เดินอย่างไร ถึงเรียกว่าออกกำลังกาย?
แม้จะบอกว่าการเดินถือเป็นการออกกำลังกายที่มีประโยชน์ต่อร่างกายประเภทหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะเดินไปเรื่อยๆ อย่างไรรูปแบบ เพราะการเดินที่ถูกต้องที่ถือว่าเป็นการออกกำลังกายนั้น ก็มีหลักการที่จำเป็นต้องเรียนรู้และปฏิบัติตามเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีต่อร่างกายเช่นกัน ทั้งนี้ แนวทางในการ “เดินเพื่อสุขภาพ” ที่ถือว่าเป็นการออกกำลังกายที่ดีและมีประโยชน์ต่อร่างกายนั้น จำเป็นต้องปฏิบัติดังนี้
1. การเดินเพื่อสุขภาพต้องเดิน “ให้หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ” โดยควรเดินให้หัวใจเต้นอยู่ในระดับอัตรา 100-120 ครั้งต่อนาที
2. เพื่อให้การเดินสามารถทำให้หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติได้นั้น เราจึงควรเดินเร็วๆ ก้าวเท้าถี่ๆ และแกว่งแขนแรงๆ เพราะการเดินในลักษณะแบบนี้จะเป็นการกระตุ้นร่างกายให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดทำงานเพิ่มมากกว่าขึ้นกว่าการเดินปกติ
3. ควรเดินให้ได้ระยะทาง 2-4 กิโลเมตรต่อวัน หรือประมาณ 10,000 ก้าว ซึ่งตัวเลขดูเหมือนจะเยอะมาก แต่ถ้าเราอยากเริ่มต้นการออกกำลังกายเพื่อให้มีสุขภาพดี ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ และในความเป็นจริงนั้น เราสามารถเดินได้ระยะทางและจำนวนก้าวที่มากกว่านี้ได้อีกมากในแต่ละวัน
4. หากเดินเร็วมากแล้วรู้สึกเหนื่อยหอบ ในระดับที่พูดและคำหายขาดช่วง ควรชะลอความเร็วลง หรือหาที่นั่งพักก่อน แล้วจึงค่อยๆ เริ่มกลับเดินใหม่อีกครั้ง
5. ควรเดินเพื่อสุขภาพให้ได้อย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ หรือไม่น้อยกว่า 150 นาทีต่อสัปดาห์ จึงจะถือว่าเป็นการเดินที่เป็นการออกกำลังกายและมีประโยชน์ต่อร่างกาย
ชีวิตคนเรามีทางเดินให้เลือกมากกว่าหนึ่งทางเสมอ เช่นกันกับเรื่องของการออกกำลังกาย ถ้าเราไม่วิ่ง ก็สามารถเดินได้ และถ้าไม่อยากเดินข้างนอก หรือคิดว่าไม่มีเวลา ก็สามารถเดินบนลู่วิ่ง ที่บ้านก็ได้ เอาจริงๆ เงื่อนไขทั้งหมดที่เป็นอุปสรรคต่อการออกกำลังกายของเรา ล้วนเกิดจากตัวเราเองเป็นคนสร้างขึ้นมา ดังนั้น ลองถามตัวเองดูอย่างจริงจังว่า เราต้องการดูแลสุขภาพตัวเองแค่ไหน แล้วตั้งใจตั้งเป้าหมายที่ใช่สำหรับตัวเอง ซึ่งถ้าทำได้เมื่อไร เราก็จะสามารถมีวินัยในการออกกำลังกาย เลือกรูปแบบของการออกกำลังกายที่เหมาะกับเราได้ อันจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดีต่อตัวเราเองได้ในที่สุด