ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายเพื่อเป้าหมายการมีรูปร่างมีสุขภาพร่างกายที่ดีแล้ว หรือจะเป็นการฝึกซ้อมเพื่อเตรียมพร้อมศักยภาพร่างกายที่สมบูรณ์แบบของนักกีฬา “เทรนเนอร์” ถือได้ว่าเป็นหนึ่งใน Key Success ที่จะทำให้ผู้เข้ารับการฝึกสามารถไปถึงเป้าหมายได้อย่างที่ใจต้องการ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หลายๆ ครั้งเราก็ไม่อาจรู้ได้เช่นกันว่า “เทรนเนอร์ส่วนตัว” หรือ “โค้ช” ที่เราเลือกมา จะเป็นคนที่ใช่หรือไม่ใช่กันแน่
ซึ่งการเลือกเทรนเนอร์ผิด ก็อาจมีผลต่อชีวิตเราได้เป็นอย่างมาก คือนอกจากจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้แล้ว ยังอาจทำให้ตัวเราเองเสี่ยงอันตรายต้องบาดเจ็บจากความไม่เชี่ยวชาญของเทรนเนอร์ได้ด้วย ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้ในการเลือกเทรนเนอร์นั้น ผู้ฝึกจำเป็นต้องสังเกตและคัดเลือกอย่างรอบคอบ โดยมีเกณฑ์เบื้องต้นสำหรับเป็นกรอบแนวทางในการพิจารณาเทรนเนอร์ส่วนตัว ดังต่อไปนี้
1. ใบ Certification เฉพาะทางด้านการฝึก เป็นสิ่งที่เทรนเนอร์ทุกคนควรมี เพราะเป็นการคัดกรองเบื้องต้นว่าอย่างน้อยที่สุด เทรนเนอร์คนนั้น ก็ได้ผ่านการฝึกอบรม เตรียมตัว และพยายามหาความรู้ มาในระดับหนึ่งเพื่อที่จะเดินอยู่บนเส้นทางอาชีพนี้
2. หากเราต้องการเทรนเนอร์ที่ดูแลเรื่องโภชนาการอาหารของเราได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นเทรนเนอร์ที่จบการศึกษามาทางด้านโภชนาการโดยตรง เพราะคนที่จะสามารถจัดมื้ออาหารได้ตรงตามสถาพร่างกายของแต่ละคนได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพนั้น มีเพียงแค่นักโภชนาการ เปรียบได้กับการที่เภสัชกรจ่ายยาได้ แต่ไม่สามารถผ่าตัดแบบที่หมอทำได้นั่นเอง
3. เทรนเนอร์จำเป็นต้องเป็นผู้ที่เข้าใจองค์รวมของการฝึกเพื่อพัฒนาศักยภาพร่างกายมนุษย์ ที่ไม่ใช่เพียงแค่เน้นการยกเวทเท่านั้น แต่จะต้องเข้าใจในเรื่องของ Stability, Mobility และ Movement ด้วย ฯลฯ เพราะการมีกล้ามเนื้อแข็งแรงอย่างเดียว ไม่ใช่สิ่งที่บอกเราได้ว่า เราจะมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง เราจะเป็นนักกีฬาที่ดีที่จะมีโอกาสคว้าแชมป์ได้ในทุกเวที
4. เทรนเนอร์ที่ดีจะสามารถแสดงแผนการฝึกซ้อมให้เราเห็นได้ตั้งแต่แรกเริ่มหลังจากที่พิจารณาสภาพร่างกายของเราแล้ว รวมถึงเข้าใจเป้าหมายของผู้ฝึกดีแล้ว ดังนั้น หากต้องการตรวจสอบว่าเราเลือกเทรนเนอร์ถูกหรือไม่ การสอบถามถึงตารางการฝึกซ้อม แผนการฝึกซ้อมโดยละเอียดจะช่วยให้เราเห็นความสามารถของเทรนเนอร์ได้ชัดเจนมากขึ้น
5. ไม่มีเทรนเนอร์คนใดสามารถรักษาโรคได้ เพราะคนเดียวที่สามารถวินิจฉัยและรักษาโรคได้นั้นคือหมอ ดังนั้น หากพบว่าเทรนเนอร์มีการอ้างอิงสรรพคุณว่าการฝึกแบบนี้สามารถช่วยรักษาโรคนั้นโรคนี้ได้ นั่นคือหนึ่งในข้อที่สันนิษฐานได้ว่า เขาอาจไม่ใช่เทรนเนอร์ที่เหมาะกับเรา
6. เทรนเนอร์ที่ดี จะไม่ยัดเยียดให้ผู้ฝึกต้องซื้อแพ็คเกจการฝึกซ้อมมากจนเกินความจำเป็น หรือมากจนไม่มีเหตุผล อย่างเช่นแพ็คเกจเดิมยังไม่หมด แต่ก็มีการโน้มน้าวให้ซื้อเพิ่ม ในกรณีแบบนี้ ถือว่า เป็นการยัดเยียดขายมากกว่าที่จะเป็นการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับผู้ฝึก
7. เทรนเนอร์ที่ดี เป็นเทรนเนอร์ที่ใจดีได้ แต่ต้องไม่ใช่เทรนเนอร์ที่ดีแต่ตามใจ เพราะอย่าลืมว่าการฝึกคือการฝึก ที่เป้าหมายจะสำเร็จได้ต้องมีวินัย ดังนั้น ผู้ฝึกจำเป็นต้องพิจารณาความเป็นผู้นำ ที่สามารถดูแลและควบคุมพฤติกรรมเราได้ด้วย มิเช่นนั้นแล้ว โอกาสที่เราจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ก็จะเป็นไปได้ยาก
8. ก่อนจะเลือกเทรนเนอร์คนใดสักคนมาเป็นผู้ฝึกสอนส่วนตัว เราควรใช้เวลาศึกษาเทรนเนอร์คนนั้นๆ อย่างละเอียดและนานพอที่จะให้ได้ข้อมูลที่แน่ใจได้มากที่สุด โดยศึกษาผ่านการติดตาม Social Media พิจารณาจากทัศนคติวิธีคิด รูปแบบการสอน ตลอดไปจนถึงอาจมีการสอบถามพูดคุยกันก่อนทั้งทางออนไลน์หรือออฟไลน์ก็ได้ เพื่อให้เราแน่ใจที่สุดว่า ได้เลือกเทรนเนอร์ที่เรารู้สึกสบายใจด้วย อุ่นใจและเชื่อใจที่จะฝึกด้วย อย่าด่วนตัดสินใจไวโดยไม่หาข้อมูล เพราะอย่าลืมว่า เราจะสำเร็จหรือไม่ เราจะปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน ไม่ได้อยู่ที่แค่เรา แต่อยู่ที่ผู้ฝึกของเราด้วย
จริงอยู่ที่ “ตัวเราเอง” นั้น คือ Key Success สำคัญที่สุดที่จะทำให้ได้ผลลัพธ์การฝึกตามเป้าหมาย แต่อย่างไรก็ตาม การฝึกสมรรถภาพร่างกายของมนุษย์นั้น ไม่ใช่การฝึกได้ด้วยตัวคนเดียว แต่ต้องเกิดจากการใช้ความรู้จากผู้รู้อย่างแท้จริง มาเป็นแนวทางในการสร้างแผนการฝึกที่มีประสิทธิภาพให้กับเรา นักแข่งรถ F1 เก่งแค่ไหน ถ้าปราศจากทีมช่างที่ดีพอ ก็ไม่มีวันเป็นแชมป์ได้ เช่นกันกับการฝึกร่างกายนั่นแหละ ที่แม้ผู้รับการฝึกจะตั้งใจและมีพรสวรรค์แค่ไหน แต่ถ้าคนฝึกไม่ใช่คนที่มีความเชี่ยวชาญจริงๆ ก็ไม่สามารถทำให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างที่ใจต้องการ