กว่านักกีฬาคนหนึ่งจะพัฒนาศักยภาพร่างกายตนเองขึ้นได้ จะสามารถมีสมรรถภาพร่างกายที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการสร้างโอกาสในการคว้าแชมป์ที่มากกว่าคู่แข่ง “โปรแกรมการฝึกซ้อมนักกีฬา” ถือได้ว่าเปรียบเสมือนเป็น “ลายแทงขุมทรัพย์” ที่จะชี้ทิศทางว่า นักกีฬาจะไปถึงเป้าหมายที่เส้นชัยได้หรือไม่ ทั้งนี้ เทรนเนอร์หลายคนอาจรู้สึกว่า การใช้โปรแกรมฝึกซ้อมนักกีฬาของนักกีฬาหรือทีมกีฬาที่เคยเป็นแชมป์มาก่อน น่าจะเป็นทางลัดที่ดีที่ทำให้นักกีฬาเรามีโอกาสเป็นแชมป์ได้มากขึ้น ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร
เพราะมีความเป็นไปได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นไปไม่ได้เช่นกัน เพราะสิ่งสำคัญคือเราต้องไม่ลืมด้วยว่า “นักกีฬาแต่ละคนมีร่างกายที่ต่างกัน” ดังนั้น โปรแกรมการฝึกของนักกีฬาคนหนึ่ง จึงไม่อาจทำให้นักกีฬาอีกคนหนึ่งบรรลุเป้าหมายได้ นั่นเองที่ทำให้ในการจะสร้างโปรแกรมฝึกซ้อมนักกีฬานั้น เทรนเนอร์จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบหลักหลายๆ อย่าง โดยมีแนวทางเริ่มต้น ดังต่อไปนี้
1. ต้องรู้ว่ากีฬาที่จะแข่งนั้นต้องการนักกีฬาแบบไหน
ก่อนที่จะไปรู้ว่าร่างกายของนักกีฬาเราเป็นอย่างไร มีจุดเด่นตรงไหน จุดอ่อนตรงไหน สิ่งสำคัญที่ควรทราบก่อนหน้าเลยคือ เทรนเนอร์ หรือโค้ช จะต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อนว่า กีฬาที่เราจะให้นักกีฬาเราลงแข่งนั้น ต้องการนักกีฬาแบบไหน ต้องการทักษะอะไรบ้าง ต้องการร่างกาย หรือ Physical Demands อย่างไร อธิบายง่ายๆ อย่างเช่น นักกีฬาบาส ต้องเป็นนักกีฬาที่สูง มีความคล่องตัว กระโดดได้สูง มีกำลังแขนกำลังขาที่แข็งแกร่ง สปีดต้นต้องดี ความอึดต้องได้ ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้จะทำให้เทรนเนอร์รู้ว่า นักกีฬาที่เราจะฝึกนั้น ต้องฝึกให้ได้ร่างกายแบบไหน และทุนเดิมของร่างกายนักกีฬามีเท่าไร ก็นำไปวิเคราะห์คำนวณ เพื่อสร้างออกมาเป็นโปรแกรมการฝึก ที่สามารถพัฒนาศักยภาพนักกีฬาให้ก้าวกระโดดขึ้นมามีร่างกายที่คู่ควรกับการเป็นแชมป์ในกีฬานั้นๆ ทั้งนี้ ยิ่งถ้ากีฬาคนละชนิดกัน โปรแกรมการฝึกซ้อมก็จะยิ่งนำมาใช้ประโยชน์ทางตรงได้ยาก เพราะกีฬาบาส กับ กีฬาวิ่ง กีฬาอื่นๆ ก็ล้วนมีความต้องการ Physical Demands ที่แตกต่างกัน
2. ต้องรู้ว่ากีฬานั้นมีระบบการใช้พลังงานอย่างไร
กีฬาประเภทเดี่ยว กับประเภททีม ก็มีระบบการใช้พลังงานของนักกีฬาต่างกัน กีฬาที่แข่งเป็นเซ็ตที่กินเวลานานกว่า ก็มีระบบการใช้พลังงานที่แตกต่างไปจากกีฬาที่แข่งแบบใช้เวลาน้อยกว่า หรือเอาง่ายๆ ให้เห็นชัดๆ คือ นักกีฬาวิ่งร้อยเมตร กับนักกีฬาวิ่งมาราธอน ก็มีระบบการใช้พลังงานที่ต่างกัน นั่นเองที่ทำให้โค้ชและเทรนเนอร์ต้องรู้ว่า ระบบการใช้พลังงานของกีฬาแต่ละชนิดเป็นอย่างไร เพื่อฝึกให้นักกีฬาสามารถ “แสดงศักยภาพอยู่ในช่วงเวลาการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด” คือแรงไม่หมด แรงไม่ตก ดึงเอาพลังงานของร่างกายออกมาใช้ได้อย่างถูกจังหวะ เหมาะสมและชิงความได้เปรียบได้ดี หากเทรนเนอร์ไม่ให้ความสำคัญกับจุดนี้ โปรแกรมการฝึกของนักกีฬาก็จะไม่สามารถทำให้นักกีฬา “มีพลังงานเพียงพอและเหมาะสมมากพอที่จะเอาชนะคู่แข่งได้” และประสบกับความล้มเหลวในที่สุด
3. ต้องรู้ว่าสาเหตุของอาการบาดเจ็บในกีฬานั้นคืออะไร
อุปสรรคที่ร้ายกาจที่สุดอย่างหนึ่งของอาชีพนักกีฬาคือ “อาการบาดเจ็บ” ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแค่ในการแข่งขัน แต่มันมีโอกาสเกิดขึ้นได้ทุกวันที่นักกีฬาลงซ้อม ดังนั้น เทรนเนอร์จำเป็นจะต้องเข้าใจว่า “อะไรคือปัจจัยเสี่ยงและเป็นสาเหตุสำคัญที่จะทำให้นักกีฬาเกิดอาการบาดเจ็บ” เพื่อที่จะได้ออกแบบโปรแกรมในการฝึกซ้อมให้ปลอดภัยกับนักกีฬาที่สุด ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าให้เลี่ยงการซ้อมที่จะทำให้มีโอกาสบาดเจ็บ แต่เป็นการสร้างรากฐานความเข้าใจนั้นให้กับนักกีฬา ให้สามารถเคลื่อนไหว และใช้ร่างกายให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยที่ไม่บาดเจ็บต่างหาก ทั้งนี้ หากเทรนเนอร์สามารถทำให้นักกีฬาซ้อมอย่างถูกวิธี โดยลดอาการบาดเจ็บลงได้มากเท่าไร โอกาสที่นักกีฬาจะประสบความสำเร็จก็จะยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น เพราะอย่างที่เราเห็นกันว่า นักกีฬาเก่งๆ ดีๆ ฟอร์มโดดเด่น สามารถกระเด็นออกจากเส้นทางแชมป์ได้ภายในพริบตา ด้วยอาการบาดเจ็บระหว่างซ้อมเพียงแค่ครั้งเดียว
4. ต้องเข้าใจช่วงเวลาของฤดูกาลแข่งขัน
แต่ละชนิดกีฬามีช่วงเวลาในการแข่งขันเป็นของตัวเอง ระดับจังหวัด ระดับประเทศ ระดับโลก ระดับลีก ฯลฯ ทุกอย่างมีโปรแกรมวันเวลาให้สามารถวางแผนได้ เทรนเนอร์จะต้องเข้าใจเป้าหมายในการฝึกซ้อมว่า จะไปเพื่อการแข่งขันใด หรือจะกวาดทุกเวทีการแข่งขัน เพื่อวางโปรแกรมฝึกซ้อมให้เหมาะสม ให้นักกีฬาได้พักอย่างเต็มที่ ได้ฝึกอย่างเต็มที่ และที่สำคัญ ต้องทำให้นักกีฬามีความพร้อมของร่างกายที่สมบูรณ์เพียงพอสำหรับทุกการแข่งขันด้วย เพราะหากเทรนเนอร์ไม่ใส่ใจกับเรื่องของการว่างช่วงเวลาการฝึกซ้อมให้เหมาะสมแล้ว ก็ยากเหลือเกินที่นักกีฬาจะมีสภาพร่างกายที่สมบูรณ์พร้อมเพียงพอกับการสร้างโอกาสในการเป็นแชมป์
5. ต้องรู้จักสภาพร่างกายของนักกีฬาอย่างถ่องแท้
นักกีฬาแต่ละคนมีร่างกายที่แตกต่างกัน สูงก็ไม่เท่ากัน กำลังก็ไม่เท่ากัน มีจุดดีจุดด้อยต่างกัน นักกีฬาแต่ละเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ อยู่คนละประเทศก็มีร่างกายต่างกัน หรือต่อให้เป็นนักกีฬาไทยเหมือนกัน แต่อยู่กันคนละจังหวัดคนละภาค พื้นฐานร่างกายก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้น การจะสร้างโปรแกรมการฝึกที่เหมาะสมกับนักกีฬาให้ได้จริงๆ จึงจำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจในร่างกายของนักกีฬาแต่ละคนอย่างลึกซึ้ง เพื่อให้สามารถสร้างโปรแกรมการฝึกซ้อมที่แก้จุดอ่อน และเสริมจุดแข็งได้อย่างเหมาะสม และทำให้นักกีฬามีร่างกาย มี Physical Demands ตามที่กีฬานั้นต้องการจริงๆ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้นักกีฬามีโอกาสคว้าแชมป์ได้มากขึ้น
5 องค์ประกอบข้างต้น คือสิ่งพื้นฐานเบื้องต้นที่เทรนเนอร์และเหล่าโค้ชควรรู้และเข้าใจ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการสร้างโปรแกรมการฝึกซ้อมนักกีฬาที่ดีที่สุด ซึ่ง ในคำว่า “โปรแกรมการฝึกซ้อมนักกีฬาที่ดีที่สุด” นั้น มันก็ไม่ได้หมายความว่า เป็นโปรแกรมที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน ไม่ได้หมายความว่าเราสามารถจะนำโปรแกรมการฝึกซ้อมนักกีฬาที่ว่ากันว่าดีที่สุดนี้ ไปใช้กับนักกีฬาตัวเองได้เลยแบบร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม เพราะในความเป็นจริงนั้น โปรแกรมที่ดีที่สุดจริงๆ คือ โปรแกรมที่ถูกสร้างขึ้นมาให้เหมาะสมกับนักกีฬาของเราโดยเฉพาะต่างหาก