สำหรับนักกีฬาแล้ว การฝึกซ้อมถือเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะช่วยทำให้ร่างกายได้รับการพัฒนาจนเพิ่มขีดความสามารถให้นักกีฬามีศักยภาพในการเล่นกีฬาที่ดีเยี่ยมมากขึ้น เพียงพอต่อการมีชัยเหนือคู่แข่งและทำให้สามารถคว้าแชมป์มาได้ในที่สุด แต่ทั้งนี้ “การฝึกซ้อมที่ดีนั้น” ก็ไม่ได้หมายความแต่เพียงว่า เราทำท่าทางในการซ้อมได้ถูกต้องเท่านั้น แต่ยังหมายความรวมถึงการที่นักกีฬาจะต้องมี “โปรแกรมการฝึกซ้อม” ที่เหมาะสม ถูกต้อง และครบถ้วนเพียงพอกับทุกส่วนสำคัญต่างๆ ที่เป็นปัจจัยในการเพิ่มศักยภาพร่างกายที่จำเป็นต่อกีฬาชนิดนั้นๆ ด้วย โดยแนวทางในการสร้างโปรแกรมการฝึกซ้อมที่ดีนั้น มีรายละเอียดที่ควรใส่ใจ ดังต่อไปนี้
1. ต้องไม่เป็นแต่เพียงการเน้นสร้างกล้ามเนื้อที่แข็งแกร่งเท่านั้น
ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรเลยที่เราจะคิดว่านักกีฬาที่ดี ที่มีโอกาสประสบความสำเร็จได้มาก จำเป็นจะต้องมีร่างกายกล้ามเนื้อที่แข็งแกร่ง เพราะแน่นอนว่า ใครแข็งแรงกว่า คนนั้นย่อมมีโอกาสชนะได้มากกว่า แต่บางทีเราก็โฟกัสแต่กล้ามเนื้อมากจนเกินไปและทำให้ลืมไปว่า ในการแข่งกีฬา กล้ามเนื้ออย่างเดียวนั้นมันไม่เพียงพอ แต่มันยังจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วยอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความคล่องแคล่ว ความอึดทนนาน การเคลื่อนไหวที่สอดประสานกันทุกส่วนของร่างกาย ตลอดไปจนถึงการทรงตัว การกระโดด การบาลานซ์ส่วนต่างๆ ของร่างกายให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดเมื่อเคลื่อนไหว
เราต้องลองจินตนาการดูว่า นักกีฬาบาสเก็ตบอลที่กล้ามโต แต่กระโดดไม่เก่ง เพราะพลังระเบิดกล้ามเนื้อยังไม่ดีพอ หรือทรงตัวไม่เก่ง หรือยังเคลื่อนไหวได้ไม่คล่องแคล่วพอ จะสามารถประสบความสำเร็จได้อย่างไร เมื่อเทียบกับนักบาสที่แม้จะกล้ามโตน้อยกว่า แต่เคลื่อนที่ได้ดีกว่า กระโดดได้สูงกว่า ทรงตัวได้อย่างยอดเยี่ยม นั่นเองที่สะท้อนเตือนใจให้เราเห็นว่า หากเราอยากเป็นนักกีฬา หรืออยากเป็นโค้ชนักกีฬาที่พัฒนาศักยภาพร่างกายของนักกีฬาให้สมบูรณ์แบบได้ เราจะต้องไม่ยึดติดแต่เพียงโปรแกรมการฝึกซ้อมที่เน้นแค่การสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อเท่านั้น
2. ทุกส่วนของร่างกาย ต้องได้รับการฝึกซ้อมทั้งหมด
บ่อยครั้งโปรแกรมการฝึกซ้อมของนักกีฬา ก็มักถูกสร้างขึ้นมาจากการมองแบบเฉพาะส่วนเกินไป อย่างเช่นโปรแกรมการฝึกซ้อมของนักวิ่ง ก็เน้นหนักไปในเรื่องของร่างกายส่วนล่าง โปรแกรมการฝึกซ้อมของนักฟุตบอล ก็เน้นหนักไปในเรื่องของการออกกำลังช่วงล่างและทักษะการใช้ขา หรือนักแบดมินตัน นักเทนนิส ที่อาจโฟกัสไปที่การใช้งานของแขน ฯลฯ แต่ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นกีฬาชนิดใดก็แล้วแต่ ทุกส่วนของร่างกายคือสิ่งที่จะต้องทำงานสัมพันธ์ร่วมกัน
ดังนั้น โปรแกรมการฝึกซ้อมที่ดีจึงควรทำให้ร่างกายทุกส่วนของนักกีฬาได้ถูกฝึกทั้งหมด ซึ่งก็ไม่เพียงแต่เรื่องของความแข็งแรงเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการเคลื่อนไหวที่สัมพันธ์กันด้วย ลองคิดดูนะครับว่า นักแบดมินตันที่กำลังแขนดีแต่ กำลังขาไม่ดี จะยืนระยะฟอร์มดีตลอดเกมส์ได้อย่างไร นักมวยที่หมัดโคตรหนักแต่หน้าท้องเปราะบาง กำลังขาไม่แกร่ง จะสามารถยืนทนต่อแรงต่อยที่ท้องได้ยังไงไหว หรือหากการเคลื่อนไหวของนักกีฬา ทำได้ดีแค่การเคลื่อนที่ไปข้างหน้า แต่การหันหลังกลับ การย่อตัว การกระโดดออกข้าง ไม่สามารถทำได้ดี ได้อย่างรวดเร็ว และอย่างบาลานซ์แล้ว นักกีฬาจะอยู่ในสภาพที่แสดงศักยภาพร่างกายและทักษะออกมาได้ดีได้อย่างไร จุดนี้เองที่ชี้ให้เราเห็นว่าถ้าเราอยากเห็นผลลัพธ์ของศักยภาพร่างกายที่สมบูรณ์แบบจริงๆ โปรแกรมการฝึกซ้อมจะต้องถูกออกแบมาอย่างครอบคลุมทุกส่วนของร่างกายทั้งการเคลื่อนไหว และพละกำลัง
3. ต้องคำนึงถึงโอกาสในการบาดเจ็บและการฟื้นตัวของร่างกาย
ซ้อมหนักเป็นเรื่องดีก็จริง แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นตัวทำลายโอกาสความสำเร็จทั้งหมดของนักกีฬาได้ด้วย นักกีฬาจำนวนไม่น้อยเลย ที่ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่เพราะไม่เก่ง แต่เพราะได้รับบาดเจ็บขณะฝึกซ้อม หรือซ้อมมากเกินไปจนไม่ฟิตพร้อมพอสำหรับการแข่งขัน ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องออกแบบไว้ให้ได้อย่างเหมาะสมในโปรแกรมการฝึกซ้อมของนักกีฬา กล่าวคือ โปรแกรมการฝึกซ้อมที่ดี จะต้องไม่เพียงแต่ทำให้นักกีฬามีร่างกาย และทักษะที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังจะต้องทำให้นักกีฬาไม่บาดเจ็บ และสามารถฟื้นฟูตัวเองได้อย่างเต็มที่ด้วย ไม่เช่นนั้นแล้ว ความสำเร็จก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้
นอกเหนือไปจาก 3 ปัจจัยที่กล่าวมา ก็ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ อีกพอสมควร อย่างเรื่องโภชนาการเองก็เช่นกัน ที่จะต้องทำให้ได้อย่างเหมาะสม และเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายตลอดระยะเวลาโปรแกรมฝึกซ้อมด้วย ซึ่งนั่นทำให้เป็นเหตุผลว่าทำไม นักกีฬาจึงต้องมีทีมโค้ช และทีมงานในการช่วยดูแล เพราะเรื่องของการออกแบบโปรแกรมฝึกซ้อม และนำนักกีฬาฝึกซ้อมนั้นเป็นเรื่องที่นักกีฬาทำคนเดียวไม่ได้ หรือถ้าทำได้ก็อาจจะไม่ดีมากพอจนทำให้ประสบความสำเร็จนั่นเอง อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่สุดของการออกแบบโปรแกรมการฝึกซ้อมที่ดีของนักกีฬานั้น จุดเริ่มต้นจะต้องเกิดจาก Mind Set ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานสำคัญก่อนว่า กีฬาไม่ได้ชนะกันด้วยความแข็งแรงเท่านั้น แต่ต้องชนะกันด้วย “ศักยภาพร่างกายทุกส่วน” ที่เหนือกว่า
ดังนั้น โปรแกรมการฝึกซ้อมกีฬาจึงไม่ใช่เพียงแค่โปรแกรมที่เน้นการสร้างรูปร่าง แต่เน้นการสร้าง Performance ร่างกายที่ดีที่สุดเพื่อการแข่งขันกีฬาชนิดนั้น ซึ่งนักกีฬาจะทำได้ดีแค่ไหน โค้ชจะออกแบบโปรแกรมการฝึกซ้อมออกมาได้ดีเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับเราต้องเข้าใจอย่างถูกต้องด้วยว่า “นักกีฬาที่เราลงแข่งนั้น” ต้องการ Performance แบบไหนบ้างเพื่อสร้างโอกาสในการคว้าชัยชนะให้ได้มากที่สุด