การแสดงศักยภาพร่างกายของนักกีฬาที่ดีขึ้น หรือ Human Performance ที่มี Progress นั้น ถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จในวงการกีฬาโดยแท้ เพราะสำหรับตำแหน่งแชมป์ในวงการกีฬานั้น Bench Mark ที่สำคัญที่โค้ชและนักกีฬาต้องตั้งเป็นเป้าหมายเพื่อไปให้ถึง ก็คือ “สถิติเดิมที่ทำไว้” ซึ่งหากเราสามารถฝึกซ้อมร่างกาย ทำให้แสดงศักยภาพออกมาได้ “สถิติดีกว่าเดิมเท่าไร” เราก็จะยิ่งเข้าใกล้กับตำแหน่งแชมป์ และมีโอกาสไปคว้าถ้วยแชมป์ได้มากขึ้นเท่านั้น
แต่อย่างไรก็ตาม การจะทำให้ Performance นักกีฬาดีขึ้นได้นั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มีองค์ประกอบปัจจัยสำคัญมากมายที่ต้องใส่ใจ และต่อจากนี้ไปเป็น 3 สิ่งสำคัญที่นักกีฬาและโค้ชต้องวิเคราะห์เจาะลึกให้เข้าใจก่อน ถึงจะสามารถมีโอกาสพัฒนาให้ Performance ของนักกีฬาดีขึ้นได้จนคู่ควรกับเป้าหมายที่วาดหวังไว้จริงๆ
1. กีฬาชนิดนั้นต้องการนักกีฬาแบบไหน?
อันดับแรกสุดที่ทีมโค้ชและนักกีฬาต้องเข้าใจ ก็คือ ต้องวิเคราะห์ให้ออกว่า “กีฬาที่เราลงแข่งนั้น” ต้องการ Performance ด้านใดเป็นสำคัญบ้าง ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น นักกีฬากอล์ฟ กับ นักกีฬาแบดมินตัน ทั้ง 2 อย่างนี้แม้จะขึ้นชื่อว่ากีฬา แต่ด้วยกฎกติกาการเล่นที่ต่างกัน การใช้ร่างกาย ที่ต่างกัน ก็ส่งผลให้ “ความต้องการในการใช้ศักยภาพร่างกายนั้นแตกต่างไปด้วย”
นักกีฬากอล์ฟอาจไม่จำเป็นต้องการความเร็ว เพราะไม่ใช่กีฬาที่จำเป็นต้องวิ่งหรือเคลื่อนที่แบบฉับพลัน แต่กับแบดมินตันนั้นต่างออกไป คือจำเป็นต้องการนักกีฬาที่มีความคล่องตัว รวดเร็ว มีกล้ามเนื้อที่มีแรงระเบิดพลังในการเคลื่อนที่แบบฉับพลัน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะบอกเราได้ว่า จะต้องวางแนวทางในการฝึกซ้อมแบบไหน เพื่อให้ได้ “ศักยภาพ” ที่กีฬาชนิดนั้นๆ ต้องการ และต้องพัฒนาศักยภาพให้สูงขึ้นถึงระดับไหน ถึงจะเพียงพอต่อตำแหน่งแชมป์ของกีฬานั้นๆ
2. ศักยภาพร่างกายของนักกีฬาอยู่ในระดับไหน?
เมื่อวิเคราะห์จนทราบแล้วว่า กีฬานั้นๆ ต้องการศักยภาพร่างกายที่เป็นเลิศด้านใดบ้าง ขั้นต่อมาที่ต้องทำการวิเคราะห์ก็คือ วิเคราะห์ตัวนักกีฬาเองว่าร่างกายของเรานั้นอยู่ในขั้นใด วิ่งเร็วแค่ไหน แข็งแกร่งแค่ไหน เคลื่อนที่เคลื่อนไหวร่างกายคล่องแคล่วเพียงใด มีปฏิกิริยาตอบสนองในระดับใด มีความอึดมากขนาดไหน ตลอดจนมีทักษะอยู่ในขั้นใด ฯลฯ เมื่อเคราะห์สิ่งเรานี้ออกมาได้แล้ว จะทำให้เราสามารถนำไปเทียบกับ “ศักยภาพที่กีฬานั้นต้องการได้” และเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า อะไรคือสิ่งที่นักกีฬาเราขาด
เพื่อจะได้พัฒนาให้ Performance ส่วนนั้นดีขึ้นเรื่อยๆ จนทัดเทียมกับ “สถิติที่ตำแหน่งแชมป์ของกีฬานั้นต้องการ” อาทิ นักกีฬาของเรายังวิ่งเร็วไม่พอ เราก็ต้องฝึกให้นักกีฬาเราวิ่งเร็วขึ้น ถ้ายังกระโดดได้สูงไม่พอ ก็ต้องฝึกให้กระโดดให้สูงขึ้น เราต้องฝึกให้นักกีฬาของเราวิ่งและกระโดดให้สูงได้ดี เท่ากับในระดับที่แชมป์เขาทำไว้ให้ได้ เพื่อให้เรามีโอกาสที่จะกลายเป็นแชมป์แทน
3. โปรแกรมและอุปกรณ์การฝึกซ้อมมีประสิทธิภาพพอไหม?
โปรแกรมการฝึกซ้อมก็เหมือนลายแทงสมบัติ ที่หากลายแทงหรือแผนที่ “ชี้ไปในทิศทางที่ผิด” ก็ไม่มีทางที่เราจะพบสมบัติได้ ดังนั้น หลังจากวิเคราะห์ได้แล้วว่า นักกีฬาของเรายังขาดอะไร แนวทางในการฝึกซ้อมก็ต้องเป็นไปเพื่อให้ได้ผลลัพธ์นั้น ซึ่งโปรแกรมการฝึกซ้อมก็ต้องถูกวางอย่างเข้าใจและถูกต้องด้วย เป็นไปไม่ได้ที่ถ้าเราอยากให้นักกีฬาวิ่งเร็วขึ้น แต่เราไม่มีโปรแกรมสำหรับการจัดฝึกท่าทางการวิ่งที่ถูกต้อง และเป็นไปไม่ได้ที่นักกีฬาเราจะวิ่งเร็วขึ้นได้ถ้าเอาแต่ยกเวทอย่างเดียว
ในขณะเดียวกันอุปกรณ์ และเทคโนโลยีในการฝึกซ้อมก็มีส่วนสำคัญมากๆ ที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพร่างกายของนักกีฬาเราให้เกินขีดจำกัดเดิมได้ไวขึ้น เช่น การฝึกวิ่งแบบธรรมดาๆ เมื่อเทียบกับการใช้ “ยางเพิ่มแรงต้านทาน” ที่ช่วยทำให้ร่างกายเราเรียนรู้ที่จะใช้แรงได้อย่างดีมากขึ้นนั้น ก็ย่อมแน่นอนว่า ร่างกายที่ฝึกมากับการวิ่งแบบมีแรงต้าน ย่อมสามารถแสดงศักยภาพออกมาได้ดีกว่า เมื่ออยู่ในสภาพการวิ่งแบบปกติ ดังนั้น อย่าละเลยที่จะให้ความสำคัญกับการวางโปรแกรมการฝึกซ้อมที่ถูกต้องและเหมาะสม ตลอดรวมไปจนถึงเรื่องของอุปกรณ์และเทคโนโลยีในการฝึกซ้อมเป็นอันขาด เพราะนั่นอาจทำให้เราทำลายโอกาสที่จะได้รับชัยชนะเหนือคู่แข่งไปอย่างน่าเสียดาย
บ่อยครั้งเราอาจจะรู้สึกว่า นักกีฬาของเรามีขีดความสามารถของร่างกายได้อยู่เพียงเท่าที่เห็น และไม่สามารถผลักดันให้ไปไกลกว่านั้นได้แล้ว แต่ในความเป็นจริง หากโค้ชและนักกีฬามีความเข้าใจในเรื่องของการพัฒนาศักยภาพร่างกายอย่างถูกต้องแล้วล่ะก็ “เพดานขีดจำกัดของศักยภาพร่างกายจะไม่มีอยู่ในความคิดทันที” เพราะเราสามารถที่จะพัฒนานักกีฬาของเราให้เก่งขึ้นกว่าเมื่อวานได้เรื่อยๆ เสมอ เพียงแต่ต้องอาศัยเวลา และความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง บวกกับหัวใจที่ทุ่มเทและไม่ยอมแพ้เป็นที่ตั้ง
ดังที่เราจะเห็นได้จาก นักกีฬาตัวเล็กๆ ที่เอาชนะนักกีฬาตัวใหญ่ๆ ได้ ทีมกีฬาเล็กๆ ม้ามืด ที่ล้มทีมกีฬาเจ้าบุญทุ่มได้ ฯลฯ สิ่งเหล่านั้นคือเครื่องพิสูจน์ว่า ทุกอย่างเป็นไปได้เสมอในการแข่งขัน ซึ่งไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากเฉพาะพรสวรรค์ แต่เป็นสิ่งที่สร้างให้เกิดขึ้นได้จากการแสวงหาความรู้และแนวทางที่ถูกต้องจริงๆ ในการพัฒนาศักยภาพร่างกายและทักษะต่างๆ ที่จำเป็นต่อการคว้าแชมป์นั่นเอง