โปรแกรมการฝึกซ้อมนั้น ถือได้ว่าเป็น “เครื่องมือสำคัญ” ที่จะช่วยทำให้นักกีฬา หรือใครสักคนที่ต้องการมีผลลัพธ์ทางด้านร่างกายที่ดีขึ้น ได้บรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ ซึ่งส่วนใหญ่ เราก็มักจะใช้หรือเทียบเคียงโปรแกรมฝึกซ้อมของเรา ตาม “โปรแกรมการฝึกซ้อมของคนที่ประสบความสำเร็จ” ซึ่งในความเป็นจริงนั้น แม้จะทำให้เกิดผลลัพธ์ได้จริง แต่ก็อาจไม่ใช่ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด และเหมาะสมที่สุดเสมอไป ด้วยเหตุผลสำคัญ 2 ข้อ คือ
1. ร่างกายไม่เหมือนกัน โปรแกรมฝึกซ้อมจึงไม่ควรเหมือนกัน
แน่นอนว่า “โปรแกรมการฝึกซ้อม” นั้น มีเป้าหมายเพื่อพัฒนา แก้ไข ปรับปรุง ให้รูปร่าง ทักษะ ตลอดจน Performance ด้านต่างๆ ของนักกีฬาดีขึ้น ดังนั้นแล้ว โปรแกรมที่ดีจริงๆ จึงจำเป็นต้องสร้างตั้งต้นมาจาก “ความต้องการของนักกีฬาคนนั้นๆ” ซึ่งถ้าเราคือนักกีฬาที่ต้องการเพิ่มความเร็ว ความอึด แต่โปรแกรมการฝึกซ้อมที่เราเลียนแบบมานั้น ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มความเร็ว ความอึดแล้วล่ะก็
เราก็จะฝึกซ้อมไปโดยไม่ได้แก้ไข ปรับปรุง พัฒนาในสิ่งที่เราควรได้รับ ในขณะเดียวกัน สภาพร่างกายของเรา กับคนอื่นๆ ก็แตกต่างกัน ทำให้เรื่องของโภชนาการ ความเข้มข้นในการฝึก ก็ต่างกันออกไปด้วย นั่นเองจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม การใช้โปรแกรมฝึกซ้อมตาม “คนที่ประสบความสำเร็จ” ไม่ได้สามารถทำให้เราประสบความสำเร็จได้ อย่างที่เราคิด
2. ต่างชนิดกีฬากัน โปรแกรมการฝึกซ้อมก็ไม่ควรเหมือนกัน
กีฬาแต่ละประเภท มีความต้องการความสามารถ ศักยภาพร่างกายที่แตกต่างกันไป อาจมีที่คล้ายกันบ้าง แต่โดยรวมแล้วต้องบอกว่าไม่เหมือนกัน ดังนั้น บ่อยครั้งที่เราเหมาเอาว่า นักกีฬาเหมือนกัน ก็น่าจะซ้อมเหมือนๆ กันได้สิ จึงเป็นความคิดที่อาจทำให้เราพลาดโอกาสที่จะฝึกซ้อมแล้วบรรลุผลตามที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ไปอย่างน่าเสียดาย ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่าง “กีฬาวิ่ง”
ซึ่งถ้าเราไม่ใช่นักวิ่งมาราธอน แต่เป็นแบบวิ่งเร็ว วิ่งสปริ๊นท์ระยะสั้นถึงกลาง โปรแกรมการฝึกซ้อมของเราก็ไม่น่าจะเลียนแบบ “คิปโชเก้” นักวิ่งมาราธอนที่เร็วที่สุดในโลกได้ เพราะสำหรับการวิ่งมาราธอนนั้น สิ่งที่ต้องเน้นคือเรื่องของความอึด และความแข็งแกร่ง ถามว่าความเร็วเน้นไหม ก็ตอบว่าเน้นได้ แต่ไม่น่าจะเท่ากับนักวิ่งระยะสั้น ที่ต้องเน้นเรื่องการระเบิดพลังกล้ามเนื้อ ที่ทำให้มี Speed ต้นที่ดี และสามารถวิ่งได้เร็วมากๆ
โปรแกรมการฝึกซ้อมที่ดี คือโปรแกรมที่สร้างขึ้นมาสำหรับ “ร่างกายของคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ” และต้องสร้างขึ้นมาจากความรู้ความเข้าใจว่า “กีฬานั้นๆ ต้องการศักยภาพด้านไหนมากที่สุด” ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือหน้าที่ของโค้ชที่จะต้องวิเคราะห์และสร้างออกมาให้เหมาะสมกับนักกีฬาให้ได้ แต่ในกรณีสำหรับคนที่ไม่ได้มีโค้ชนั้น
การที่เราจะสร้างโปรแกรมฝึกซ้อมที่ดี ที่เหมาะกับตัวเราเองมากที่สุด และทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดนั้น การจะฝึกตามโปรแกรมฝึกซ้อมของคนที่สำเร็จนั้น ก็ควรที่จะ “นำมาปรับให้เข้ากับเราเสียก่อน” เพราะการฝึกตามเลียนแบบเป๊ะๆ นั้น คงไม่ Fit กับเราพอดี ซึ่งในทางผลเสียที่ร้ายแรงที่สุดนั้น อาจทำให้เราเกิดอาการบาดเจ็บได้ เพราะ โปรแกรมนั้นอาจหนักเกินไปสำหรับพื้นฐานร่างกายที่เราเป็นอยู่